ธปท. วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64-65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื้อ

22 ก.ค. 2564 | 13:46 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64และ 65 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ -การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่เกิดในปีหน้า จับตาประสิทธิภาพของมาตรการและแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่

ธปท.ส่องเศรษฐกิจไทยปี64และ 65 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ-การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่เกิดในปีหน้า จับตาประสิทธิภาพของมาตรการและแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่  พร้อมประเมินผลล็อคดาวน์ 2สมมติฐานฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหาย0.8-2%แนะประสานนโยบายการเงินและการคลังต่อเนื่อง

ธปท. วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64-65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื้อ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในหัวเรื่อง "ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด" โดยระบุว่า  ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อลดการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศนั้น  ธปท.มองว่าถ้าล็อคดาวน์แล้วสามารถควบคุมและลดการระบาดลงถึง 40%ได้ในเดือนสิงหาคม 2564 อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป 0.8%

ส่วนกรณีเลวร้าย  แม้จะมีการควบคุมที่เข้มงวดแต่ประสิทธิภาพการดูแลอัตราการแพร่เชื้อลดลงได้แค่ 20% แต่สถานการณ์ยืดเยื้อถึงปลายปีมีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหายไป 2.0%   เพราะประชาชนล็อคดาวน์ตัวเอง  (แม้รัฐบาลไม่ได้ล็อคดาวน์ยาว) ความเชื่อมั่นอาจยังไม่กลับมา  

 “ มาตรการล็อคดาวน์จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 64 นี้ หายไป 0.8-2.0% แต่ผลกระทบดังกล่าวไม่สามารถนำไปหักลบจากจีดีพีโดยตรง เพราะตรงนี้เป็นเรื่องผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปซึ่งอาจจะมีเรื่องมาตรการทางการเงินการคลังที่ออกมาดูแลหลังจากนี้ด้วย และตัวแปรอื่นๆ เช่น  การส่งออกหรือการลงทุนอื่น ที่อาจจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่คาด”

ธปท. วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64-65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื้อ

ธปท. วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64-65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื้อ

 ทั้งนี้  แนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดนานเพียงใด ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการและแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม  ผลสำรวจที่ผ่านมายังพบว่า ประชาชนยังกังวลใจ และไม่มั่นใจส่วนใหญ่มองว่าจะออกมาใช้ชีวิตตามปกติครึ่งหลังของปีหน้า  ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่ลดลงมาก  แต่สำหรับภาคธุรกิจอยากให้ออกมาใช้ชีวิตปกติเร็วที่สุดคือ ไตรมาสหนึ่งปีหน้า

ดังนั้นแนวโน้มการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเลื่อนออกไปโดยยังไม่เกิดขึ้น  ในปี 2565 เพราะปัจจัยเสี่ยงหลากหลายเช่น 1. ไวรัสกลายพันธุ์ยิ่งทำให้สัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนเพิ่มถึง 90%, 2.ความเร็วในการกระจายวัคซีนที่ยังขึ้นอยู่กับสูตรของการฉีด,ความต้องการฉีดวัคซีนและซัพพลายของวัคซีน ซึ่งรวมถึงการได้นำเข้าวัคซีนที่ล้าช้า 3.พฤติกรรมของคน(ไม่ยอมฉีดวัคซีน)หรือคนฉีดวัคซีนแล้วการ์ดตก เหล่านี้อาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่เกิดในปี 2565  

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี2564 และ ปี2565   เช่น สถานการณ์ระบาดของโควิด  การเปิดประเทศของประเทศอื่นๆอาจเจอปัญหาเดียวกันซึ่งนักท่องเที่ยวยังไม่มั่นใจที่จะเดินทาง หรือนโยบายทางการคลัง  เม็ดเงินที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจะมีความต่อเนื่อง  รวมถึงความเปราะบางของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่จะมีผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

ในแง่ของนโยบายการเงินนั้น มีข้อจำกัด เพราะหากให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องจะเป็นภาระหนี้กับประชาชนและธุรกิจในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์ระบาดยืดเยื้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กลับมา จำเป็นต้องประสานนโยบายการเงินและการคลัง โดยนโยบายการเงินผ่อนคลายเต็มที่เพื่อให้เศรษฐกิจไม่มีอุปสรรคเรื่องต้นทุนทางการเงิน  และนโยบายการคลังมีความสำคัญมากเพราะปัญหาของเศรษฐกิจตอนนี้ที่รายได้หายและรายได้ปรับลดลง  มองไปข้างหน้า แม้เครื่องยนต์จุดติดขึ้นมาบ้าง แต่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ขณะที่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะภาคบริการยังไม่กลับมา

ธปท. วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 64-65 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื้อ