ลูกหนี้ เช่าซื้อรถยนต์มึน! โร่ร้องสื่อ โดนทวงหนี้ซํ้าซ้อน

08 ก.ค. 2564 | 11:13 น.

ลูกหนี้เช่าซื้อ ร้องสื่อ ถูกบริษัทติดตามทวงถามหนี้ หลอกให้ขับรถเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ ทว่ากลับเจอศูนย์ตรวจสภาพ แถมถูกแจ้งยอดหนี้รวม 1.07 แสนบาท บวกค่าขับรถไปคืนอีก 10,000 บาท แถมสำนักกฎหมายอีกรายโผล่ติดหมายหน้าบ้าน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ของประชาชนในวงกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่ม “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อน

 

นอกจากนั้นยังมีช่องทาง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระและเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียวหรือหลายราย รวมทั้งหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท(บบส.)เป็นผู้ดำเนินการ

 

สำหรับยอดสะสมของมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 14 กุมภาพันธ์-30 มิถุนายน 2564 ประมาณ 342,727 คน คิดเป็น 682,222 รายการ ได้ข้อสรุปความช่วยเหลือ 70%

 

ส่วนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ บบส.เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมมีลูกหนี้ลงทะเบียนสะสม 873 รายการ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน -1 กรกฎาคม จำนวนคำขอใหม่ 166 รายการ

 

ส่วนใหญ่เป็นคำขอส่งไปยังบบส.ทวีทรัพย์ และบบส. ฮาร์โมนิช ได้ข้อสรุปความช่วยเหลือ 50% ซึ่งรายการคำขอที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่เกิดจากไม่พบบัญชีลูกค้า


ล่าสุด ธปท.จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ หรือที่เรียกว่า คืนรถล้างหนี้ โดยเริ่มเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน มีลูกหนี้ลงทะเบียนสะสม 17,977 ราย ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม จำนวนคำขอใหม่ 1,274 ราย (1,355 คัน)

 

ส่วนใหญ่เป็นคำขอส่งไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยธนชาต และ ไทยพาณิชย์ ซึ่งแนวทางความช่วยเหลือส่วนใหญ่ คือ ขอพักค่างวด หรือ ลดค่างวด และขยายระยะเวลาชำระหนี้ ได้ข้อสรุปความช่วยเหลือคิดเป็น 70%

ลูกหนี้ เช่าซื้อรถยนต์มึน! โร่ร้องสื่อ โดนทวงหนี้ซํ้าซ้อน

ฐานเศรษฐกิจ”ได้รับหนังสือร้องเรียนจากลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ โดยระบุว่า ลูกหนี้มีภาระหนี้วงเงิน 99,322 บาท กับไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง หลังจากประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผิดนัดสัญญากู้ยืมกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้

 

ระหว่างทางลูกหนี้ได้ติดต่อกับสำนักงานกฎหมายที่ได้รับมอบหมายจากไฟแนนซ์เจ้าหนี้ในการติดตามทวงถามหนี้มาตลอด แต่กลับถูกสำนักงานดังกล่าว ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 โดยมีนัดไกล่เกลี่ยและสืบพยานวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่ศาลจังหวัดธัญญบุรี


ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมกลับมีเจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้แทนไฟแนนซ์ในการติดตามทวงถามหนี้ หรือ Outsource Agent (OA) มาพบที่บ้าน(พร้อมมีรหัสระบุชัดเจน) โดยอ้างกับลูกหนี้ว่า จะนำรถยนต์ไปคืน

 

เจ้าหน้าที่ดังกล่าว บอกให้ลูกหนี้ขับรถยนต์ ซึ่งเป็นหลักประกันไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ที่เมืองทองธานี แต่เมื่อไปถึงสถานที่กลับพบว่า เป็นพื้นที่ของบริษัท สากลการประมูล จำกัด ไม่ใช่ศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้แต่อย่างใด

 

จากนั้นลูกหนี้ได้พบกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ได้ขอกุญแจ เพื่อตรวจสภาพรถและแจ้งให้นำของสำคัญออกจากรถยนต์ พร้อมกับให้เซ็นใบตรวจสภาพรถยนต์ และให้ถือเอกสารไปพบผู้บริหารที่สำนักงานใหญ่ (ผจก.ฝ่ายบริหารหนี้สินเชื่อรถยนต์) เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อได้ข้อสรุป ค่อยย้อนกลับมานำรถคืนต่อไป

 


 “ผมเดินทางไปถึงสำนักงานใหญ่ ไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ตามที่แจ้ง และทางคอลเซ็นเตอร์ประสานงานให้คุยกับเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ได้รับแจ้งว่า สากลการประมูล ไม่ใช่สถานที่พักรถยนต์ของไฟแนนซ์เจ้าหนี้ ที่พักรถยนต์ คือ สหการประมูล คลอง8 เมื่อไม่ได้พบผู้บริหารผมจึงเดินทางกลับ”ลูกหนี้ระบุ

ลูกหนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า วันต่อมาลูกหนี้ได้รับโทรศัพท์แจ้งยอดเงินที่จะต้องนำไปชำระเงินรวม 107,000 บาท โดยเป็นหนี้ผิดสัญญากู้ยืม จำนวน 99,322 บาท และค่าติดตามรถยนต์อีก 10,000 บาท โดยต้องชำระภายในใน 30 วันหากครบกำหนดไม่ชำระ จะนำรถประมูลต่อไป

 

เหตุการณ์ยังไม่จบแค่นั้น วันถัดมาวันที่ 3 กรกฎาคม สำนักงานกฎหมายที่ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ได้นำหมายศาลมาปิดประกาศหน้าบ้านเป็นทางการ ก่อนที่จะมีนัดไกล่เกลี่ยและสืบพยานในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 

 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังไฟแนนซ์เจ้าหนี้ โดยได้รับคำชี้แจงว่า ลูกหนี้รายนี้อยู่ในกระบวนการยึดรถ เนื่องจากค้างชำระค่างวดประมาณ 6-7งวด ซึ่งบริษัทพร้อมจะดำเนินการดูแลลูกหนี้เป็นกรณีพิเศษ 


หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564