สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง เตือนระวัง “ข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง”

24 พ.ค. 2564 | 04:53 น.

สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง เตือนระวัง “ข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง” แนะ 5แนวทางในการส่งเสริมและแก้ไขข้อจำกัด

สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง  เตือนระวัง  “ข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง”

สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง   “ ธนาคารเสนอดอกเบี้ย 9%  21%ต่อปี  นอนแบงก์คิด 36% ฟินเทคชาร์ต 25-28% ด้านพีโลนดิจิทัล 25% และP2Pไม่เกิน 15%  เตือนระวัง  “อาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง”  5แนวทางในการส่งเสริมและแก้ไขข้อจำกัด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  เปิดเผย เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 โดยระบุถึง สถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)  สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในบริบทของประเทศไทย  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการชำระเงินส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ มีการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบไร้เงินสดมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมและนวัตกรรมทางการเงินในระยะหลังที่ทำผ่านระบบดิจิทัล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ จากความสะดวกในการใช้จ่าย การลดต้นทุนการทำธุรกรรมและต้นทุนการผลิตธนบัตร/เหรียญกษาปณ์ และลดปัญหาอาชญากรรมจากการถือเงินสด อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นการช่วยลดการสัมผัสและป้องกันการแพร่ระบาดได้อีกทางหนึ่งด้วย

สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง  เตือนระวัง  “ข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง”

 อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อพึงระวัง อาทิ อาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังจากความสะดวกรวดเร็วของการทำธุรกรรม สำหรับประเทศไทยเริ่มผลักดันสังคมไร้เงินสดอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้แผนใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) โดยปัจจุบันมูลค่าธุรกรรม e-Payment ของไทยยังไม่สูงมากนัก การเป็นสังคมไร้เงินสดต้องมีปัจจัยสนับสนุน 4 ด้าน (David Horton, 2020) คือ (1) ด้านวัฒนธรรมและการยอมรับของประชาชน ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคไทยมีการยอมรับนวัตกรรมไร้เงินสดมากขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือผ่าน Application ยังช่วยเร่งในการสร้างการยอมรับ (2) ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องอาศัยโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการมีนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายซึ่งเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ (3) ด้านการสนับสนุนของภาครัฐและการสร้างความเชื่อมั่น ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ฯ National e-Payment เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ขณะที่สถาบันการเงินมีการพัฒนาระบบในการรองรับความเสี่ยงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเพิ่มความไว้วางใจแก่ผู้ใช้ อีกทั้งยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในการรักษาความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ (4) ด้านการใช้งานและความแพร่หลายในการใช้ ซึ่งพบว่าขั้นตอนการสมัครที่ง่าย อาทิ บริการพร้อมเพย์ ทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย

สศช.ชี้สินเชื่อออนไลน์เพิ่มต่อเนื่อง  เตือนระวัง  “ข้อมูลส่วนตัว และใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง”

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติ อาทิ ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ สะท้อนจากจำนวนคนไม่น้อยที่ต้องเดินทางมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือของรัฐที่ธนาคารเองจากข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น รวมถึงนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกและการสูญเสียทางการเงิน ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมและแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ได้แก่ (1) ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล รวมถึงอาจช่วยเหลือการเข้าถึงอุปกรณ์และสัญญาอินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (2) การเสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีและป้องกันความเสียหายจากภัยคุกคามทางดิจิทัล (3) การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีระบบธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แพร่หลาย (4) การมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ (5) การนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ต่อยอด อาทิ นำข้อมูลมาใช้คัดกรองประชาชนในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดการตกหล่น