“ลิงลพบุรี” ความหวังของชาวบ้าน กับปัญหาที่แก้ไม่จบ

12 มี.ค. 2567 | 07:44 น.

ภายหลังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากถูก"ลิงลพบุรี"ทำร้ายจนเข่าหลุด ทำให้วันนี้ “เจ้าจ๋อ”กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนลพบุรีไปแล้ว แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “คน”กับ”ลิง”จะดำเนินอยู่คู่กันมานานกว่า 50 ปี จนเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองละโว้ก็ตาม

KEY

POINTS

  • การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน
  • สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาลิง แบ่งเป็น 3 ระยะ
  • การควบคุมประชากรลิง
  • เคลื่อนย้ายลิงไปอยู่ในที่เหมาะสม
  • ให้ลิงเป็นชนิดสัตว์ป่า จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุได้

ภายหลังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากถูก"ลิงลพบุรี"ทำร้ายจนเข่าหลุด  ทำให้วันนี้ “เจ้าจ๋อ”กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนลพบุรีไปแล้ว แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “คน”กับ”ลิง”จะดำเนินอยู่คู่กันมานานกว่า 50 ปี  จนเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองละโว้ก็ตาม

ดูเหมือนว่าปัญหา “ลิง” ที่มีปริมาณมากเพิ่มขึ้นทั้งลิงศาลพระกาฬ  ลิงปรางค์สามยอดและลิงตึก(ลิงที่อาศัยตามอาคารพาณิชย์)  สร้างความสกปรก เที่ยวรื้อค้น  แย่งของจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยว  ผนวกกับมีความดุร้าย   กลับเป็นวิกฤตที่หลายฝ่ายอยากให้เร่งแก้ไขเพื่อคืนความสุขและฟื้นเศรษฐกิจของตัวเมือง

ลิงพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี

ยิ่งพฤติกรรมของลิงล่าสุดมีความเหิมเกริมชิงถุงกับข้าว และยังกระโจนตัวถีบสาวคนหนึ่งในช่วงพลบค่ำจนเจ้าตัวถึงกับล้มทั้งยืนและยังได้รับบาดเจ็บจนเข่าหลุดต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  กระทั่งผู้ได้รับบาดเจ็บได้ลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจภูธรท่าหินเพื่อหาผู้รับผิดชอบ   ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้พลเมืองลพบุรี ต่างออกมาเร่งเร้าให้ภาครัฐต้องทำอะไรอย่างจริงจัง
 

หลายปีที่ผ่านมาความพยายามจากผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีหลายคนที่เร่งแก้ปัญหาและบริหารจัดการลดจำนวนประชากรลิงในเมืองที่มีอยู่หลายพันตัว ส่วนใหญ่เป็นลิงแสม และลิงวอกบางส่วน   สาเหตุจากลิงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคน ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองลพบุรี

อย่างไรก็ตาม ลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ทั้งมีคำถามจากประชาชนถึง  การสร้าง “นิคมลิง”หรือกรงลิงขนาดใหญ่  ที่ ต.โพธิ์เก้าต้น  ข้างสถานีตำรวจท่าหิน  อ.เมือง จ.ลพบุรี  ที่มีการใช้งบประมาณ ไปกว่า 30 ล้านบาท  แต่ยังไม่สามารถนำลิงไปอยู่ได้  เพราะติดขัดที่ลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่สามารถนำมากักขังในกรงได้  นั่นจึงเป็นปัญหาใหญ่ของเรื่องราวระหว่าง คนเมืองกับลิง   
                “ลิงลพบุรี” ความหวังของชาวบ้าน กับปัญหาที่แก้ไม่จบ
 ล่าสุดคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับจังหวัดลพบุรี ได้ศึกษาและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืนขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ “ประชาชนสุขใจ ลิงปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” พร้อมเสวนารับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหา "ลิง"จังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน จากหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธาน 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนนักท่องเที่ยวในการแก้ไขปัญหา "ลิง"  ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งจากความเห็นทั้งหมด  1,688 คำตอบ  มีความเห็นว่าปัญหาที่พบเกี่ยวกับลิงมากสุด 3 ลำดับ คือ การทำลายทรัพย์สิน  การแย่งสิ่งของ และ ปัญหาความสกปรก
 

บทสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาลิง ถูกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (3 เดือน)  ได้แก่ การสำรวจนับประชากรลิงอย่างเป็นระบบ การทำหมันลิงเพื่อควบคุมประชากรลิงและตรวจโรค การดูแลสุขภาพของลิงและป้องกันไม่ให้เกิดโรคอุบัติใหม่ การกำหนดสถานที่และเวลาให้อาหารลิง เป็นต้น

ในระยะกลาง (6 เดือน) ได้แก่ การจัดหาแหล่งงบประมาณสำหรับลิง เช่น ค่าอาหาร ค่าทำหมันและตรวจโรค การปรับปรุงระบบการกำจัดขยะ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดำเนินการด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง  ส่วนแผนระยะยาว จะมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อเคลื่อนย้ายลิงไปอยู่ในที่เหมาะสมอื่น เช่น  ป่าธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ๆลิงรู้สึกว่าปลอดภัย

การทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรลิง

ขณะที่การควบคุมปริมาณลิงนั้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรีเร่งทำหมันลิงในพื้นที่ จ.ลพบุรี ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 300 ตัว   ส่วนการปรับปรุงสวนลิง ที่ ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี ที่ก่อสร้างมานานหลายปีแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ  ซึ่งเทศบาลเมืองลพบุรีเป็นผู้ดูแลนั้น 

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ และหน่วยงานสังกัดกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าไปสำรวจความมั่นคง แข็งแรง และสภาพแวดล้อมต่างๆ  แต่ก็พบความไม่แข็งแรงของกรง  ที่อาจส่งผลกระทบหากนำลิงจากในเมืองมาเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าว   

นายเผด็จ ลายทอง  ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า  หลังจากการตรวจสอบ พบว่ามี 2 จุดหลักที่ต้องแก้ไขคือ  ด้านในกรงลิง และแนวตะเข็บรั้ว  โดยพื้นที่ด้านในกรง ต้องปรับให้มีสภาพที่เหมาะกับการแสดงพฤติกรรมของลิง เช่น มีต้นไม้ มีเชือกโหน มีระบบน้ำ ให้ใกล้เคียงไปกับธรรมชาติ และต้องมั่นใจได้ว่าหากลิงไปอยู่แล้ว จะได้รับสวัสดิภาพที่ดี  ส่วน แนวตะเข็บรั้ว เนื่องจากกรงลิงนี้ ยังไม่มีการเดินแนวตะเข็บของรั้วตาข่ายที่ติดกับตัวเหล็ก ทำให้ความแข็งแรงไม่พอ ซึ่งหากไม่ปรับปรุงในส่วนนี้ แล้วถ้านำลิงไปขังไว้ เชื่อได้เลยว่าลิงจะใช้เวลาไม่นาน ขย่มพังกรงออกมาได้ เมื่อลิงออกมาได้ ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนแถวนั้นอีก 
      การเคลื่อนย้ายลิงใปอาศัยในจุดที่เหมาะสม        

นายเผด็จ  ยังกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องมีเพื่อจะช่วยเสริมการป้องกันลิงหลุดให้ดียิ่งขึ้น นั่นก็คือ “รั้วไฟฟ้า  ตอนนี้ด้านบนของบางกรง เขายังไม่ได้ขึงรั้วไฟฟ้ากั้นไว้ เพราะอาจจะคิดว่า 'ลิง' ขึ้นไปไม่ได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น ต้องมีการติดตั้ง  และทำให้มิดชิด ซึ่งระบบของรั้วไฟฟ้าก็ต้องมีการเดินให้ได้มาตรฐาน ให้มีแนวการสร้างแนวการเรียนรู้ของลิงให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเอาลิงไม่อยู่แน่นอน"  และรั้วไฟฟ้าจะเป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง ที่ไม่ได้ทำให้ลิงเสียชีวิต เพียงแต่รู้สึกสะดุ้ง ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมพฤติกรรมลิง และควบคุมบริเวณ โดยเฉพาะจ่าฝูง ที่มีพฤติกรรมดื้อมากๆ   

ขณะที่ นายจำเริญ  สละชีพ  นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี  เผยถึง”นิคมลิง” ที่ยังไม่ได้ใช้งานว่า  เดิมทีจังหวัดเป็นผู้สร้างแต่พอสร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำลิงไปไว้ได้ เพราะลิงเป็น 'สัตว์คุ้มครอง' จึงทำให้พื้นที่รกร้าง   ต่อมาจังหวัดยกให้เทศบาลดูแลต่อแต่ก็ติดขัดปัญหาเดิม เราไม่มีอำนาจในการจับ ทำให้นิคมลิงยังไม่ได้เริ่มใช้  ถึงแม้จะมีการปรับปรุงให้กรงมีมาตรฐานแข็งแรง รองรับลิงได้ก็ตามแต่เชื่อว่าปัญหาก็วกกลับมาที่เดิม    การแก้ปัญหามีวิธีเดียว คือ "เอาลิงออกจากสัตว์คุ้มครอง"  ถ้ามีการจับได้ ขังได้ ขนได้ เทศบาลจะทำได้เต็มที่   โดยเฉพาะลิงตึกที่ก่อปัญหา แต่ลิงศาลพระกาฬ และลิงปรางค์สามยอดจะยังคงอยู่ แต่ปริมาณอาจลดลงไป   

นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ยังกล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องลิงตีกัน ลิงทำร้ายร่างกาย  ทำลายข้าวของ มีสื่อทำข่าวออกไป ชาวบ้านที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ ด่านายก ด่าผู้ว่าฯ ด่า สส. แต่ทุกคนไม่มีอำนาจจัดการกับลิง เพราะทำแล้วจะมีความผิด  สิ่งที่เราทำได้คือดูแลความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามสถานที่และท้องถนน  ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากคนที่เอาอาหารมาเลี้ยงลิงไม่เป็นที่เป็นทาง ทั้งที่เรามีการจัดสถานที่ให้อาหารลิงแล้ว และมีการออกระเบียบและติดป้ายชี้แจง ให้เทศกิจอยู่ประจำจุด คอยดูว่าใครทำผิดระเบียบ นอกจากนั้นยังกำหนดจุดให้อาหารลิง 3 จุด คือ ข้างรางรถไฟ หลังโรงหนังมาลัยรามา และในศาลพระกาฬ 

“ลิงลพบุรี” ความหวังของชาวบ้าน กับปัญหาที่แก้ไม่จบ

ล่าสุด  เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริเวณพระปรางค์สามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายกฤติน หลิมตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ นายจำเริญ  สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี  ร่วมกันลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาลิงในเขตบริเวณเมืองเก่า อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยมี นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ส.ส.ลพบุรี เขต 1  นายเอ็ดวินนุช จาโคบุส วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า นายปรัชญา เปปะตัง   ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี  ร่วมเป็นสักขีพยาน  

การลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาลิงครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น การร่วมมือของทุกฝ่าย และเป็นการตัดข้อจำกัดในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พรบ.รักษาความสะอาด พรบ.สาธารณสุข ซึ่งทุกหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนด  

“ลิงลพบุรี” ความหวังของชาวบ้าน กับปัญหาที่แก้ไม่จบ

โดยนายอรรถพล  เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ กำลังเสนอร่างประกาศซึ่งอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้กำชับให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องลิงในทุกพื้นที่  โดยร่างประกาศตัวนี้จะให้อำนาจท้องถิ่น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องของสัตว์ป่าภายใต้ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าและรวมไปถึงไฟป่า เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้สามารถดำเนินการหรือการจัดทำแผนงบประมาณในการที่เข้ามาแก้ไขปัญหาภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ก็จะเป็นการปิดข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่หลายคนบอกว่าท้องถิ่นไม่สามารถที่จะมาทำภายใต้กฎหมายสัตว์ป่าได้เพราะว่าเป็นสัตว์อยู่ในบัญชีคุ้มครอง

นอกจากนี้ การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาลิงในเขตบริเวณเมืองเก่า ของลพบุรี มีประเด็นสำคัญคือการช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาลิง โดยเทศบาลเมืองลพบุรีจะจับลิงในเขตบริเวณเมืองเก่าที่ทำหมันแล้ว นำมาดูแลรักษาที่สถานอนุบาลลิง และ กรมอุทยานฯจะมอบอำนาจการจับลิง และดูแลรักษาลิงในสถานอนุบาลลิง ให้เทศบาลเมืองลพบุรี

รวมทั้งสนับสนุนให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย   ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน ทั้งจัดการสุขภาพและสวัสดิการลิงในสถานอนุบาลลิง  ร่วมพิจารณาจัดสรรงบประมาณโดยกรมอุทยานฯ จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุงกรง-คอก ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ ๑ (นครนายก) เพื่อเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายลิงจากสถานอนุบาลลิง  และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานให้เกิดความเรียบร้อย ตาม เป้าหมายอยู่ร่วมกันของ  "คน เมือง ลิง" อีกด้วย 

แม้ว่าวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มให้ลิงเป็นชนิดสัตว์ป่า ที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุได้ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าทำร้าย ซึ่งเดิมกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาได้เฉพาะกรณีที่ถูกช้างป่าและกระทิงทำร้าย เพื่อให้สามารถนำเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า มาช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกลิงทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ

กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 100,000 บาท กรณีบาดเจ็บให้จ่ายตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท และจ่ายค่าเสียโอกาสในการทำงาน วันละ 300 บาท ไม่เกิน 180 วัน ตามความเห็นแพทย์ แล้วก็ตาม  

แต่ด้วยความที่ “ลิง”ผูกพันในเขตเมืองลพบุรีมายาวนาน ผนวกกับแก้ไขปัญหาเรื่องของสัตว์ป่าภายใต้ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า  คนลพบุรีเองก็ต้องทนกับสภาพอย่างนี้ไปอีกนาน