อย่าพลาด ปรากฎการณ์ Super Full Moon- SuperBlue Moon ดวงจันทร์เต็มดวง

30 ส.ค. 2566 | 15:21 น.

สายดูดาวคืนนี้ต้องห้ามพลาด! 2 ปรากฎการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงSuper Full Moon และ Super Blue Moon เช็ครายละเอียดช่วงเวลา -พร้อมเคล็ดลับการถ่ายภาพดวงจันทร์ที่นี่

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ประกาศว่าในช่วงคืนที่ 30 ถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 จะมี 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ 

  1. ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 
  2. ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)

ประชาชนที่ต้องการติดตามชม 2 ปรากฎการณ์นี้ สามารถศึกษารายละเอียดได้ดังนี้

  • ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15%
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 
  • ปรากฎการณ์นี้ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ที่สำคัญยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย
     

 

อนึ่ง บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก 

 

โดยปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที 

 

บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย

 

ส่วนปีนี้ ตรงกับช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน) 

บลูมูน (Blue Moon)
 

เคล็ดลับการเก็บภาพดวงจันทร์ สามารถศึกษารายละเอียดการถ่ายภาพได้ดังนี้ 

  1. ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ความยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูง จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า 
  2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เนื่องจากดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ค่าความไวแสงสูง จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วย ช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว
  3. การปรับโฟกัสภาพ แนะนำใช้ระบบ Live View บนจอหลังกล้อง เลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด
  4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป อาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบภาพดูว่าเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่  
  5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) เนื่องจากสามารถปรับการตั้งค่าได้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวก
  6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600 วินาที หากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปให้เพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ขึ้นจนได้แสงที่พอดี
  7.  รูรับแสง เลือกใช้ในช่วงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
  8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
  9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
  10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

เคล็บไม่ลับในการถ่ายภาพดวงจันทร์ที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้แนะนำเพิ่มเติม 
สามารถประยุกต์ใช้เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ให้น่าสนใจ  อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ Moon Illusion เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้ามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร

 

ล่าสุดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT  ได้โพสต์ภาพซูเปอร์บลูมูน คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 20:15 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 357,185 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงไกลโลกที่สุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 01:40 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,813 กิโลเมตร แสดงให้เห็นขนาดปรากฏที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ส่วนปรากฏการณ์บลูมูนครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2569 

ซูเปอร์บลูมูน คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566

ที่มาข้อมูล-ภาพ

  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT