“รดน้ำดำหัว” ขอพรผู้ใหญ่ “เทศกาลสงกรานต์” ต้องทำอย่างไร  

10 เม.ย. 2566 | 21:33 น.

ประเพณีรดน้ำดำหัว ขอพรพ่อแม่-ผู้ใหญ่ที่เคารพรัก เนื่องในวันสงกรานต์ 2566 ต้องทำอย่างไร เพื่อความเป็นสิริมงคล และเสริมสร้างความรักความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว

สงกรานต์ 2566 ใกล้จะมาถึง “ฐานเศรษฐกิจ” เชิญชวนคุณผู้อ่านทำกิจกรรมเสริมสร้างความสุขและสิริมงคลในครอบครัว ด้วย การรดน้ำดำหัว ขอพรจากพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน และผู้มีพระคุณ ถือเป็นการสร้างความเป็นสิริมงคลเนื่องใน วันปีใหม่ไทย (13 เม.ย.) วันผู้สูงอายุ (ตรงกับวันที่ 13 เม.ย.เช่นกัน) และวันครอบครัว (14 เม.ย.) ไปในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมให้ความหมายไว้ว่า ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้มีพระคุณ เป็นประเพณีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน เนื่องจากในช่วงเทศกาลนี้ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี เป็นวันหยุดยาวที่ลูกหลานได้มีโอกาสกลับบ้านมารวมญาติ ได้พบปะกับสมาชิกครอบครัว จึงถือเป็นวันครอบครัว เป็นโอกาสที่ลูกหลานจะได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ที่มีพระคุณที่เคารพนับถือ

แรกเริ่มเดิมที "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เป็นพิธีโบราณจากทางภาคเหนือของไทย คำว่า “รดน้ำดำหัว” เป็นคำพูดของชาวเหนือขณะที่จะไปรดน้ำ ขอขมาหรือขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และยังเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลไปจากชีวิตด้วย

หัวใจสำคัญคือการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อยที่มาขอขมาลาโทษ และขอพรจากผู้ใหญ่ (ขอบคุณภาพจาก Nation Photo)

ในอดีตนั้นการรดน้ำ คือการอาบน้ำจริง ๆ ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั้นเอง (คำว่า “ดำหัว” เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิมหมายถึงการสระผม) โดยจะใช้น้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูดในการสระผม ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค แต่รูปแบบในปัจจุบันนั้น ได้ลดทอนลงมาโดยเหลือเพียงการรดน้ำลงที่มือของผู้ใหญ่และล้างเท้า ขอพรจากท่าน มิได้อาบน้ำสระผมให้เช่นในโบราณกาล

ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุนี้ เป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าสมควรได้รับการสืบทอด จัดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้กระทำไว้ในอดีต นอกจากนี้ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีคุณค่าสำหรับลูกหลานชาวไทยทุกคน เพราะเป็นวัยที่ผ่านประสบการณ์ในแต่ละช่วงอย่างมากมาย จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม

โดยปกติแล้วประเพณี “รดน้ำดำหัว” จะทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ (15 เม.ย.) เพียงวันเดียวหรือ “วันเถลิงศก” ไม่ใช่ว่าจะเลือกทำวันใดก็ได้ แต่ในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความสะดวกของแต่ละครอบครัว

หัวใจสำคัญคือการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย ที่มา ขอขมาลาโทษ ที่อาจเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ และ ขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

น้ำลอยดอกมะลิ ผสมน้ำอบหอมเย็นชื่นใจ

ขั้นตอนการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นความเป็นมงคล ด้วยการไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ (หรือใครจะไปก่อเจดีย์ทรายที่วัด ก็แล้วแต่สะดวก) และเมื่อกลับมาที่บ้านก็ให้เริ่มพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ล้างเท้าพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ โดยเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

  • พานธูปเทียนแพ หรือ พวงมาลัย 1 พวง ต่อ 1 ท่าน
  • ซองใส่ปัจจัยให้บุพการีเนื่องในวันปีใหม่ไทย
  • ขันเงินใส่น้ำลอยดอกมะลิ ผสมน้ำอบให้มีกลิ่นหอม สำหรับรดน้ำดำหัว (รดมือท่าน)
  • กะลังมัง ถัง หรือภาชนะใหญ่สักหน่อย เพื่อใส่น้ำล้างเท้าผู้ใหญ่
  • ชุดเสื้อผ้าใหม่เตรียมให้พ่อแม่
  • ผ้าเช็ดมือ เช็ดเท้าผืนใหม่

 

คำกล่าวขอขมาและขอพร

บทสวดรดน้ำดำหัววันสงกรานต์ ให้ตั้งนะโม 3 จบ ระลึกถึง พระคุณพ่อ - แม่ พระคุณพระรัตนตรัย ตามด้วยคำกล่าวขอขมา ดังนี้

  • อนันตะ คุณะสัมปันนา ชะเนติ ชะนะกาอุโภมัยหัง
  • มาตาปิตุนัง วะปาเท วันทา มิ สาทะรัง

พ่อแม่ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้

ข้าพเจ้าขอไหว้เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้า

สิ่งใดที่ลูกล่วงเกินคุณพ่อคุณแม่ ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ลูกขอขมา ขออภัยจากคุณพ่อและคุณแม่ด้วย

เนื่องในวันมงคล วันสงกรานต์ปีนี้

ลูกพรอันศักดิ์สิทธิ์จากคุณพ่อคุณแม่เพื่อประโยชน์

และความสุขความเจริญรุ่งเรืองของลูกสืบเนื่องไป

 

หลังสวดคำกล่าวขอพร รดน้ำดำหัว (รดน้ำดอกมะลิผสมน้ำอบที่มือพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยในบ้าน โดยมีขันรองรับน้ำ) เสร็จแล้ว มอบพวงมาลัยให้ท่าน จากนั้น เป็นการล้างเท้าพ่อแม่ วางเท้าท่านในกะละมังหรือถังใหญ่แล้วล้างเท้าท่านให้สะอาด และก้มกราบรับพร