มอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้าน 'ผ่านมือถือ' ประหยัดพลังงาน เพิ่มความสะดวก

21 ส.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การประหยัดพลังงาน แค่ลดใช้พลังงานเกินจำเป็น รู้จักปิดเมื่อไม่ได้ใช้ เพียงแค่นี้ก็สามารถลดใช้พลังงานไปได้เยอะ คิดง่ายๆ เปิดพัดลมทิ้งไว้โดยที่ตัวเองไม่อยู่ แทนที่แค่เอื้อมมือไปปิดก่อนเดินออกมา ก็ประหยัดไปได้เยอะแล้ว แต่ถามหน่อย ทำกันหรือเปล่า หรือจะเปิดไว้เผื่อ...ในเมื่อไม่มีคนนั่งอยู่

ประเด็นนี้แหละ จึงเป็นสิ่งที่เด็กๆ ยุคใหม่ ต้องมาช่วยกันคิด พัฒนาสติปัญญาคนขี้เกียจ และเพื่อความสะดวก การลืมปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเวลาที่เร่งรีบ คิดดีๆ มันมีผลต่อค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

[caption id="attachment_86663" align="aligncenter" width="335"] เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข[/caption]

“เอ็ม - พีระพงษ์ ทองสุข และบิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์” นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) พัฒนา “ระบบควบคุมและตรวจสอบการทำงานสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์” ให้ผู้ใช้งานสามารถมอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านทางมือถือ โดยมี ปองพล นิลพฤกษ์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา

[caption id="attachment_86661" align="aligncenter" width="335"] บิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์ บิว - ณัฐฑิตา อินวัตพันธ์[/caption]

เอ็ม เล่าว่า การพัฒนาระบบเริ่มจากโมดูลหลักสำหรับการติดต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน มีโปรแกรมฝังไว้ที่ตัวโมดูลและระบบเซิร์ฟเวอร์ เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ไฟฟ้ากับ Smart Devices ซึ่งใช้เว็บซ็อกเกตโปรโตคัล(WebSocket Protocol) เป็นโปรโตคัลหลักในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ และสร้างบ้านจำลองเพื่อใช้ในการทดสอบการทำงานของระบบ

[caption id="attachment_86664" align="aligncenter" width="335"] ปองพล นิลพฤกษ์ ปองพล นิลพฤกษ์[/caption]

ระบบนี้ประกอบด้วยการทำงาน 2 ส่วน คือ ส่วนของซอฟต์แวร์แอพพลิเคชัน เป็นไฮไลต์สำคัญของตัวระบบ ซึ่งรองรับการทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และยังมีส่วนของเว็บแอพพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้จากทุกระบบปฏิบัติการ เช่น iOS และ Windows เป็นต้น ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสหน้าจอมือถือหรือแท็บเลตเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าได้โดยตรงหลังจากเข้าสู่ระบบ หน้าแรกของระบบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนการควบคุมปิดเปิดแบบสัมผัส ส่วนตรวจสอบค่าใช้ไฟฟ้า และส่วนแสดงอุณหภูมิของโมดูลที่ติดตั้งภายในบ้าน

เมนูการใช้งานมีทั้งหมด 7 ฟังก์ชัน ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้งานได้ 5 ฟังก์ชัน คือ หน้าแรกของระบบ ประวัติการใช้งานของผู้ใช้ ควบคุมด้วยการตั้งเวลาถอยหลัง ควบคุมด้วยการตั้งวันที่และเวลาที่ต้องการ ควบคุมด้วยตำแหน่งจีพีเอส สำหรับให้ผู้ใช้งานกำหนดระยะห่างจากตัวบ้านเพื่อทำการกำหนดระยะการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนหน้าจัดการใช้งานจะเกี่ยวกับการเพิ่มผู้ใช้งานและการกำหนดสิทธิ์การใช้งาน รวมถึงหน้าตั้งค่าอุปกรณ์ไฟฟ้านั้น เช่น ชื่อและรูปภาพของอุปกรณ์ จำนวนวัตต์ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 หน้าดังกล่าวสามารถใช้งานได้เฉพาะผู้ที่ดูแลระบบเท่านั้น

[caption id="attachment_86662" align="aligncenter" width="500"] Raspberry PI 2 Model B Raspberry PI 2 Model B[/caption]

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ ใช้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ Raspberry PI 2 Model B และรีเลย์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ 8 ช่องทาง รวมถึงการสร้างบ้านจำลอง เพื่อแสดงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดกว้าง 85 สูง 160 และลึก 20 เซนติเมตร ซึ่งมีจำนวนหลอดไฟ 4 ดวง พัดลม 1 ตัว และสะพานไฟเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ใด ๆ ก็ได้

บิว อธิบายว่า หลังจากทำการทดสอบระบบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการทำงาน พบว่า ระบบสามารถทำงานได้ดี ทุกส่วนที่พัฒนาขึ้น ทำงานตามวัตถุประสงค์และขอบเขตการทำงานของระบบ โดยเฉพาะการควบคุมแบบสัมผัสที่สามารถ สั่งเปิดและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างง่าย และสามารถควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยตำแหน่งจีพีเอสได้อีกด้วย ระบบเหล่านี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อ คือ ควรมีโมดูล WI-FI แยกออกมาจาก โมดูลหลักเพื่อให้สามารถติดตั้งได้ง่ายทุกที่ภายในบ้านและแยกเป็นอิสระต่อกัน โดยโมดูลที่แยกออกมานี้สามารถส่งต่อข้อมูลผ่าน WI-FI ไปยังโมดูลหลักเพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบในเครื่องแม่ข่ายอีกทีหนึ่ง

ด้านอ.ปองพล สรุปว่า ระบบเพื่อการมอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านมือถือของนักศึกษา เป็นการคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียน ผสมกับเรื่องราวเทคโนโลยี ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่โดยฝีมือคนไทย ถือเป็นผลงานต้นแบบที่จะนำไปสู่คุณภาพการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ตรงตามพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในการจะนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปเป็น 10-20 เท่าตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559