ส่องความหมาย "วันเหมายัน 2566" ที่มาปรากฏการณ์ "ตะวันอ้อมข้าว"

20 ธ.ค. 2566 | 08:55 น.

เปิดความหมายของ "วันเหมายัน 2566" (Winter Solstice) หรือ "ตะวันอ้อมข้าว" วันที่เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ตรงกับวันอะไร มีความหมายและต่างจาก "วันครีษมายัน" อย่างไร สรุปไว้ให้แล้วที่นี่

วันเหมายัน 2566 (Winter Solstice) หรือที่คนไทย เรียกว่า ปรากฏการณ์ "ตะวันอ้อมข้าว" ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลของวันเหมายัน หรือที่คนไทยเรียกว่า ปรากฏการณ์ "ตะวันอ้อมข้าว" เอาไว้ว่า วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) หรือ ภาษาอังกฤษ คือ Winter Solstice คือ วันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี สำหรับปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2566 

ส่องความหมาย \"วันเหมายัน 2566\" ที่มาปรากฏการณ์ \"ตะวันอ้อมข้าว\"

วันเหมายัน คือวันอะไร

ในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุด ในวันเหมายันของแต่ละปี

วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และเวลากลางวันที่สั้นที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที

นอกจากนี้ "วันเหมายัน" ยังนับเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

ความแตกต่างของ"วันเหมายัน" กับ "วันครีษมายัน" 

วันเหมายัน (Winter Solstice) จะตรงข้ามกับ วันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืน โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ตรงกับฤดูร้อน และมีวันพิเศษอีก 2 วันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน คือ วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต

ส่องความหมาย \"วันเหมายัน 2566\" ที่มาปรากฏการณ์ \"ตะวันอ้อมข้าว\"

ความเชื่อของ "วันเหมายัน" หรือ ตะวันอ้อมข้าว 

คนไทยจะเรียก "วันเหมายัน" ว่าปรากฏการณ์ "ตะวันอ้อมข้าว" โดยมีที่มาของความเชื่อเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีความเกี่ยวโยงกับคนไทยมากที่สุด

มีตำนานเล่าว่า ช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว เป็นช่วงที่พระแม่โพสพกำลังตั้งครรภ์ ดวงอาทิตย์จึงทำความเคารพพระแม่ด้วยการไม่โคจรข้ามศีรษะของท่าน แล้วเปลี่ยนเส้นทางโคจรอ้อมไปทางทิศใต้แทน

นอกจากนี้ "ตะวันอ้อมข้าว" ยังเป็นสัญญาณบอกให้เกษตรกรเตรียมตัวเก็บเกี่ยวผลผลิตเนื่องจากฤดูหนาวมาถึงแล้วนั่นเองโดยในแต่ละภาคจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ วันเหมายัน หรือ ตะวันอ้อมข้าว ที่ต่างกันไป อาทิ

  • ภาคอีสาน : มีประเพณีบุญคูนลาน
  • ภาคเหนือ : มีประเพณีทานข้าวใหม่
  • ภาคใต้ : มีประเพณีทานไฟ เป็นต้น