7 เดือน 7 เทศกาลทะนะบะตะ กับ ตำนานเจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัว

07 ก.ค. 2566 | 02:00 น.

7 เดือน 7 ของทุกปีตรงกับ "เทศกาลทะนะบะตะ" สำคัญอย่างไร ชาวญี่ปุ่นทำอะไรในวันนี้ พร้อมเปิดที่มาตำนานความรักต่างชนชั้นของ "เจ้าหญิงทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว" ในรอบ 1 ปีได้พบกันเพียง 1 วัน

วันที่ 7 เดือน 7 (กรกฎาคม) ของทุกปีซึ่งตรงกับเทศกาล "ทะนะบะตะ (Tanabata)" ในประเทศญี่ปุ่น มีเทศกาลหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ วันเทศกาลทะนะบะตะ

โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า ถ้าเขียนคำอธิษฐานลงบนแผ่นกระดาษเล็ก ๆ ซึ่งมีสีสันสดใส ที่เรียกกันว่า "ทังซะกุ (Tanzaku)" แล้วนำไปแขวนไว้กับกิ่งไผ่เพื่ออธิษฐานขอพรจากดวงดาวในวันนี้อาจสมหวังซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อกันมาแต่โบราณว่า กิ่งไผ่นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ได้ 

เปิดตำนานทะนะบะตะ

นานมาแล้วที่ฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำอะมะโนะกะวะ หรือ "ทางช้างเผือกบนสรวงสวรรค์" คำใช้เรียกขานที่รู้จักกันดี ที่แห่งนี้มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง เธอมีชื่อว่า "โอริฮิเมะ" ซึ่งมีรูปโฉมงดงาม ทั้งยังขยันขันแข็งในการทำงาน เธอเป็นลูกสาวของเทพเจ้าผู้ครองสวรรค์ งานหลัก ๆ ของเธอ คือ การทอผ้า

เนื่องจากผ้าที่องค์หญิงโอริฮิเมะทอขึ้นนั้นมีความสวยงามและประณีตบรรจง เป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าทวยเทพทั้งหลายทำให้เธอต้องทอผ้าตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ได้ผ้าจำนวนมากพอกับความต้องการของเทพทั้งหลาย

เมื่อเทพผู้เป็นบิดาได้รับทราบข่าวเช่นนั้นก็รู้สึกห่วงใยและต้องการให้นางมีคู่ครองเพื่อเข้ามาคอยดูแลบุตรสาว เทพผู้เป็นบิดาจึงได้ประกาศหาคู่ให้กับ "องค์หญิงโอริฮิเมะ" โดยเธอได้ตกลงปลงใจจะครองคู่กับชายหนุ่มที่ชื่อ "ฮิโกโบชิ" ชายหนุ่มร่างกำยำ สง่างามและมีความขยันขันแข็ง เป็นคนเลี้ยงวัวอยู่ฝั่งด้านใต้ของทางช้างเผือก

ภายหลังเมื่อทั้งสองได้แต่งงานกัน ความรักและความสุขทำให้ทั้งคู่ไม่ได้สนใจหน้าที่ของตนเองทำให้บิดาโกรธ สั่งลงโทษให้ทั้งสองแยกจากกันไปอยู่ที่คนละด้านของทางช้างเผือกแต่เนื่องจากผู้เป็นพ่อเกิดความสงสารเมื่อเห็น "โอริฮิเมะ" มีอาการโศกเศร้าเมื่อต้องถูกแยกจากชายคนรักจึงเปลี่ยนใจยอมให้ทั้งคู่สามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ โดยในรอบ 1 ปีให้พบกันได้เพียง 1 วันเท่านั้น นั่นก็คือ วันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีนั่นเอง