ตลาดนัดเจ้าบ่าวอินเดีย เรียนดู-งานดี หนุนค่าตัวพุ่ง

01 มิ.ย. 2566 | 07:49 น.

ผู้ชายอินเดียคึกคัก  เจ้าสาวต้องให้เงินสด เสื้อผ้า และเครื่องประดับให้กับครอบครัวเจ้าบ่าว   ยิ่งผู้ชายการศึกษาดีทำงานดี ดันค่าสินสอดเพิ่มขึ้น

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เอเชียใต้มีธรรมเนียมให้สินสอดกันมานานหลายร้อยปี พ่อแม่เจ้าสาวต้องให้เงินสด เสื้อผ้า และเครื่องประดับให้กับครอบครัวเจ้าบ่าว แม้วิธีปฏิบัติดังกล่าวกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินเดียตั้งแต่ปี 1961 แต่ก็ยังมีอยู่และทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเผชิญความรุนแรงในครอบครัวกระทั่งถึงแก่ชีวิต

เรื่องนี้ เจฟฟรีย์ วีเวอร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียและกัวราฟ ชิปลันการ์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ศึกษาการแต่งงานกว่า 74,000 คู่ในอินเดียระหว่างปี 1930-1999 เพื่อดูถึงวิวัฒนาการของสินสอดทองหมั้น คำนวณ “สินสอดสุทธิ” หรือความแตกต่างระหว่างมูลค่าเงินสดและของขวัญที่ครอบครัวเจ้าสาวให้กับครอบครัวเจ้าบ่าวกับที่ครอบครัวเจ้าบ่าวให้ครอบครัวเจ้าสาว และใช้ข้อมูลจากการสำรวจเศรษฐกิจชนบทและประชากรศาสตร์ของอินเดีย ที่สำรวจครัวเรือนใน 17 รัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดมาประกอบ

ศึกษาพบว่า การแต่งงานของชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังเป็นการคลุมถุงชน ผู้หญิงเกือบทุกคนแต่งงานภายในวัย 20 ตอนปลาย ราว 90% มีสินสอด ค่าสินสอดระหว่างปี 1950-1999 มูลค่าเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ การเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งส่งเสริมให้การจ่ายสินสอดดำรงอยู่ โดยเฉพาะจากทศวรรษ 1940-1980 วีเวอร์ระบุ “ตลอดช่วงนี้ ผู้ชายได้รับการศึกษาดีขึ้น ทำงานดีขึ้น ทำให้ค่าสินสอดเพิ่มขึ้น”

รายงานบอกด้วยว่า  ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้สินสอดยังมีอยู่ ในแง่เจ้าสาว ครอบครัวที่ไม่ยอมจ่ายสินสอดให้ลูกสาวก็จะเหลือแต่เจ้าบ่าว ‘คุณภาพต่ำ’ เจ้าบ่าวเองก็มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งให้ต้องรับเงินสินสอด โดยเฉพาะถ้าครอบครัวมีลูกสาวหรือต้องการถอนทุนที่ลงไปกับการศึกษาของเจ้าบ่าว 

คุณลักษณะของการแต่งงานในอินเดียที่งานวิจัยค้นพบ เกือบทั้งหมดเป็นผัวเดียวเมียเดียว ที่จบลงด้วยการหย่าร้างมีไม่ถึง 1% พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการเลือกเจ้าบ่าว/เจ้าสาวให้ลูก กว่า 90% ของการแต่งงานระหว่างปี 1960-2005 ผู้ปกครองเลือกคู่ให้ กว่า 90% เมื่อแต่งงานแล้วอาศัยอยู่ในครอบครัวสามี ผู้หญิงกว่า 85% แต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน 78.3% ของการแต่งงานเป็นการแต่งกับคนในอำเภอเดียวกัน

การเรียกสินสอดมีคำอธิบาย ทฤษฎีหนึ่งกล่าวไว้ว่า สินสอดมีในหมู่ครัวเรือนวรรณะสูงจากนั้นคนวรรณะต่ำเรียกบ้างเพื่อยกระดับทางสังคม แต่งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครเริ่มก่อนกันแน่ เพราะพิธีปฏิบัติดังกล่าวทั้งสองกลุ่มเริ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า การที่ผู้หญิงวรรณะต่ำต้องการแต่งงานกับชายวรรณะสูงกว่าเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่วีเวอร์กล่าวว่า ทัศนะนี้ “ไม่ถูกต้อง” เนื่องจาก “การแต่งงานข้ามวรรณะมีน้อยมาก” 94% ของการแต่งงานที่งานชิ้นนี้ศึกษาเป็นชาวฮินดูที่แต่งงานภายในวรรณะเดียวกัน