เอสซีจี นำนวัตกรรมร่วมจัดการขยะทะเล นำร่อง 5 ปากแม่น้ำ

09 มิ.ย. 2565 | 11:36 น.

เอสซีจี ร่วมมือกระทรวงทรัพยากร และภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU ร่วมมือจัดการขยะทะเล นำร่อง 5 ปากแม่น้ำ นำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะทะเลให้เป็นศูนย์

นายวิเชษฐ์ ชูเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จับมือภาคีเครือข่าย ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลให้เป็นศูนย์ นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ณ สวนสาธารณะลานโลมา ชายหาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ในวันทะเลโลก โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน 

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรทั้งขยะบนบกและขยะทะเล และมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573)  


ทั้งนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ดำเนินการลดปริมาณขยะในแม่น้ำสายหลัก ที่ไหลลงสู่ทะเลในบริเวณปากแม่น้ำโดยเร็ว 

 

นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น หากภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขอบเขตที่กว้างและเข้มข้นขึ้น มากกว่าการบริจาคเงินทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสามารถร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดหาและบริหารจัดการเครื่องมือดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ การสนับสนุนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชมในพื้นที่ โดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริม ประสานความร่วมมือ และร่วมกันผลักดันการดําเนินงานตามโครงการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เป็นต้นไป
 

เอสซีจี เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social และ Governance) และ ESG 4 Plus ของเอสซีจี ได้แก่ มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมในสังคม 

 

ปัญหาขยะทะเลในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนในความร่วมมือครั้งนี้อย่างจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้กลับมาสวยงาม  โดยเอสซีจี พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน ใน MOU ดำเนินโครงการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในบริเวณปากแม่น้ำสายหลักบริเวณอ่าวไทยตอนบน สนับสนุนภาครัฐและทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า การผนึกกำลังครั้งนี้ นับเป็นการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลนำร่อง 5 ปากแม่น้ำ และยังนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะทะเลให้เป็นศูนย์ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย นับเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล 

 

ภายหลังจากที่หน่วยงานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเลฯ แล้ว จากนั้นมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ จากตัวแทน 6 บริษัทชั้นนำของประเทศ อันได้แก่  บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี  บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)  บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)   บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่พร้อมจะร่วมมือกับหน่วยงานใน MOU สำหรับการดำเนินโครงการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในบริเวณปากแม่น้ำสายหลักบริเวณ อ่าวไทยตอนบน  เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและ ลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป