ระวัง!ไขมันในเลือดสูง “ส่งผลถึงชีวิต”

05 พ.ค. 2564 | 13:00 น.

ตรวจสุขภาพประจำปีกันทีไร ทุกคนจะต้องตารอดูผล “ไขมันในเลือด” พร้อมๆ กับความรู้สึกที่หงุดหงิดใจเสมอๆ กับคำว่า “ไขมัน” เพราะต้องคอยเผาพลาญไขมันส่วนเกินออกอยู่เสมอ แต่รู้หรือไม่ว่า มากกว่าความน่าหงุดหงิด คือ ความน่ากลัวของ “ไขมันในเลือด” ที่อาจส่งผลถึงชีวิต!

นพ.นพดล นินเนินนนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) กล่าวว่า ในร่างกายของคนเรานั้น จะมีไขมันทั้งหมด 2 ชนิดด้วยกัน คือ คอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์    
 
1. คอเลสเตอรอล คือ ไขมันที่เกิดได้จากภายในร่างกาย โดยการสังเคราะห์จากตับหรือลำไส้ และเกิดได้จากอาหารที่รับประทาน อาทิ อาหารที่มีรสจัด หวาน มัน เค็ม ขนมกรุบกรอบ ครีมเทียม และนมเนย ที่หากร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลมากเกินไป จะส่งผลให้เส้นเลือดแข็งตัว และหลอดเลือดตีบตัน
 
2. ไตรกลีเซอไรด์ คืออีกหนึ่งไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากอาหารที่มีนํ้าตาลหรือแป้ง ซึ่งเป็นไขมันที่มีความสำคัญต่อร่างกาย แต่หากไตรกลีเซอไรด์มีระดับสูงขึ้นอาจเกิดจาก โรคอ้วน โรคเบาหวาน การดื่มสุรา และการทานยาฮอร์โมน หรือ
สเตียรอยด์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดหลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนเลี้ยงหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต
 
สาเหตุการเกิดภาวะไขมันในเลือด ได้แก่
 
1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ระบบเผาพลาญไขมันลดลง
 
2. รับประทานอาหารผิดหลักโภชนาการ
 
3. โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ โรคตับ และโรคไตบางชนิด เป็นต้น
 
4. การใช้ยาประเภท สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
 
5. การดื่มแอลกอฮอล์
 
ผู้ที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด เริ่มตั้งแต่ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง, ผู้สูบบุหรี่ และ ผู้ดื่มแอลกอฮอล์
         
ในทางที่เหมาะสมนั้น การตรวจร่างกายควรเกิดขึ้นเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป และควรตรวจซํ้าทุกๆ 1-3 ปี เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ เพราะสุขภาพคือสิ่งที่เมื่อเกิดความสูญเสีย 1 ครั้ง จะส่งผลยาวนานเกินกว่าที่จะกู้คืนได้ 
 ดังนั้น เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที ตรวจสุขภาพทุกปี เช็คสุขภาพให้ดีก่อนมีความเสี่ยง! 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564