รำลึก "หลวงพ่อคูณ" ... ฟื้นประเพณีโบราณแดนอีสาน

28 ม.ค. 2562 | 10:24 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ย้อนความหลังกลับไป เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 16 พฤษภาคม 2558 วันที่ประชาชนคนไทยได้รับทราบถึงการมรณภาพของ "พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" ขณะทำการรักษาภายในห้องอายุรกรรมผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71 นำความโศกเศร้าให้กับหมู่มวลศิษยานุศิษย์ที่นับถืออย่างมาก

7c8f3789c415d973b404339a6e73ec5b
แต่ด้วยหลวงพ่อคูณท่านมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงทำพินัยกรรมไว้ 8 ข้อด้วยกัน หนึ่งในนั้นระบุให้มอบสังขารแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่มรณภาพ ท่านสละร่างเป็น "อาจารย์ใหญ่" เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาแพทย์ เรียกได้ว่า ท่านเป็นผู้เสียสละสร้างทานบารมี จนถึงวาระสุดท้ายทีเดียว และเมื่อเหล่านักศึกษาได้ค้นคว้าเรียบร้อยแล้ว ให้จัดพิธีกรรมทางศาสนาและสวดพระอภิธรรม ก็ขอให้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำด้วยความเรียบง่าย จัดเช่นเดียวกับจัดให้กับอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ประจำปี และให้เผาที่ฌาปนสถานวัดหนองแวง อำเภอเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และให้นำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย

หลวงพ่อคูณเป็นเกจิอาจารย์แดนอีสานที่มีผู้คนนับถือทั่วทุกสารทิศ แม้จะมีพินัยกรรมให้จัดงานเรียบง่ายก็ตาม แต่เพื่อเป็นการจัดงานให้สมเกียรติงานพระราชทานเพลิงสรีรสังขาร "พระเทพวิทยาคม" หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา พร้อมอาจารย์ใหญ่ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ม.ค. 2562 ณ พุทธมณฑลอีสาน จ.ขอนแก่น นั้น สิ่งที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนผู้ที่เคารพศรัทธาให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ "เมรุ" รวมถึง "พิธีกรรม" ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล


S__148324356

ตั้งแต่การใช้โลงจากไม้จันทน์ โลงสเตนเลสส์ล็อก เพื่อไม่ให้ใครเข้าถึงอัฐิของท่าน ส่วนเมรุที่ใช้จัดทำในลักษณะของ "นกหัสดีลิงค์" ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังมีประเพณีโบร่ำโบราณอย่าง "พิธีกรรมนางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์" ที่มีความยึดโยงกับตำนานอันเก่าแก่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตัว "นางสีดา" ที่มีอยู่จริงและสืบทอดสายเลือดกันมาแบบ "รุ่นต่อรุ่น" จนปัจจุบัน สามารถหาผู้สืบทอดรุ่นที่ 6 ได้แล้ว และในงานนี้ก็จะมาเป็นผู้ปราบนกหัสดีลิงค์ด้วย เราคงจะได้เห็นพิธีกรรมทั้งก่อนและหลังการทำพิธีในวันจริง

การสร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ ปกติตามประเพณีโบราณนั้น จะจัดทำเฉพาะการฌาปนกิจศพเจ้านายชั้นสูง หรือ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดความเรียบง่ายตามประสงค์ของหลวงพ่อคูณ การออกแบบจึงถอดอัตลักษณ์ของหลวงพ่อคูณออกมา คือ ความเรียบง่าย จึงกลายเป็นงานศิลปะสีขาวบริสุทธิ์ และพิจารณาเอกลักษณ์ของหลวงพ่อผ่านงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ พบว่า มีรูปปั้นช้างมี 4 งา ขณะที่ หัวของนกหัสดีลิงค์ก็เป็นช้าง 4 งา ด้วยเช่นกัน ส่วนการก่อสร้าง ซึ่งมาจากช่างหลายสถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชน จนถึงศิษยานุศิษย์ มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโบราณ อาทิ เขียน แกะ สลัก ปั้น ปูน รัก หุ่น บุ กลึง หล่อ นับเป็นงานศิลป์โบราณที่น่าทึ่งทีเดียว

ส่วนโครงสร้างตัวนก สร้างจากไม้เนื้อแข็งสูง 22.6 เมตร นำไม้ไผ่มาทำเป็นโครงด้านนอก ใช้กระดาษสีขาวมาพับคล้ายการทำเปเปอร์มาเช่ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาพร้อมกับร่างหลวงพ่อคูณในวันที่ทำพิธีฌาปนกิจ ประดิษฐานบนฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 16 เมตร ประกอบด้วยนาคที่มีความยาว 5 เมตร 12 ตน และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 32 ตน


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่คนทั่วไปยังไม่ทราบ คือ นอกจากความอลังการและความงดงามของเมรุลอยแล้ว นกหัสดีลิงค์ที่ประกอบกับเมรุลอย ยังถูกสร้างให้มีกลไกในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ได้ อาทิ หันศีรษะ ม้วนงวง กะพริบตา กระดิกหู และมีเสียงร้อง เป็นต้น ประเพณีโบราณยังไม่จบเพียงแค่เมรุ แต่ด้วยคำบอกเล่าที่มาของเมรุนี้ ยังต้องมีการประกอบพิธีกรรม "นางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์" ตามตำนานเล่าขานกันมาในสมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครถึงแก่สวรรคต การจัดการพระศพตามโบราณประเพณีต้องแห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง แต่ขบวนแห่ถูกนกหัสดีลิงค์โฉบพระศพไปจึงต้องหาผู้ปราบจนได้นางสีดามาปราบสำเร็จ ดังนั้น ตามขนบธรรมเนียมไทยโบราณประเพณีเหล่านี้เราจะไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก

สำหรับงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อคูณครั้งนี้ การเคลื่อนย้ายก็มาบนรถโบราณเช่นกัน มีการโปรยดอกคูณบุญที่เหล่าศิษยานุศิษย์ร่วมแรงร่วมใจกันทำ 3 หมื่นเหรียญ โปรยตามทาง เพื่อขอซื้อทางจากเจ้าที่ตามความเชื่อ ซึ่งเหรียญโปรยทานนี้ คณะแพทย์ฯ ได้ออกแบบเพื่องานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่หลวงพ่อคูณโดยเฉพาะ เพื่อแสดงออกถึงความเมตตาที่หลวงพ่อมีต่อพุทธศาสนิกชน ระหว่างทางไปที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการสวดพระอภิธรรม มาตั้งแต่วันที่ 22-28 ม.ค. 2562 วันละ 4 รอบ พร้อมเปิดให้ประชาชนได้วางดอกไม้จันทน์ที่ศูนย์ประชุม ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. และที่ฌาปนสถานชั่วคราว วัดหนองแวง พระอารามหลวง ภายในเกาะกลางน้ำ ด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. โดยดอกไม้จันทน์ที่ประชาชนทุกคนได้วางนั้น ทุกดอกจะถูกนำไปใช้ในการฌาปนกิจจริงในวันที่ 29 ม.ค. 2562 คาดว่าในวันนั้นจะมีผู้เข้าร่วมงานนับล้านคน


news

นอกจากนี้ ทาง มข. ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่มีการทำวัตถุมงคลใด ๆ ทั้งสิ้น ทำเพียงหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่และครูใหญ่หลวงพ่อคูณ ทั้งหมด 3 เล่มเท่านั้น สำหรับหนังสือที่ระลึกทั้ง 3 เล่ม ประกอบด้วย แบบที่ 1 คือ หนังสือที่ทำแจกเฉพาะญาติครูใหญ่ ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี ผลิตจำนวน 800 เล่ม แบบที่ 2 คือ หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เล่มเล็ก 44 หน้า จำนวน 300,000 เล่ม แจกผู้มาร่วมงานที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มข. และแบบที่ 3 คือ หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เล่มใหญ่ ประมาณ 100 หน้า จำนวน 5,000 เล่ม แจกเฉพาะแขกสำคัญ แต่เนื่องจากมีผู้ต้องการหนังสือจำนวนมาก หากพลาดไปสามารถดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 3 แบบ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ มข. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ประกอบด้วย แบบที่ 1 https://goo.gl/kJ962k แบบที่ 2 https://goo.gl/bN3TZ7 และแบบที่ 3 https://goo.gl/cw2doS

นับเป็นอีกงานที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ให้รำลึกถึงเกจิอาจารย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรมและสร้างทานบารมีจนถึงวาระสุดท้าย ...

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,439 วันที่ 27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว