บินไทยลุ้นรีเทิร์นมะกันปีหน้า กพท.ชง 250 ล.จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติออก AOC 41แอร์ไลน์

29 ม.ค. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เจ้าจำปี รอไทยปลดล็อค FAA ก่อนตัดสินใจรีเทิร์นจุดบินสู่อเมริกาปีหน้า ลั่นไม่รีเทิร์นแอลเอ แต่มองในจุดอื่นแทน ขณะที่กพท. เล็งชงครม.ขออนุมัติงบ 250 ล้านบาท จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจาก CAAi ที่ปรึกษาด้านเซฟตี้ระดับโลก ในเครือ UK Civil Aviation Authority ร่วมตรวจสอบการออก AOC ใหม่ให้ 41 สายการบินพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญของไทย ชี้ล่าสุดมี 3 แอร์ไลน์พร้อมรับการตรวจ หวังตรวจเสร็จภายในปีนี้ ลั่นหากสายไหนไม่พร้อมจะให้ไลเซ็นต์เฉพาะบินในประเทศเท่านั้น

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แม้ปัญหาเรื่องความเสี่ยง ด้านรายได้จากตลาดยุโรป ของการบินไทยจะหมดไป จากการที่บริษัทฯผ่านการประเมินมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป(EASA) และได้รับอนุญาตให้เป็นสายการบินของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่สามารถทำการบินเข้าน่านฟ้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่อไปโดยไม่มีเวลาจำกัด หรือ TCO (Third Country Operator) แต่การบินไทยก็อยากผลักดันให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) แก้ไขข้อบกพร่องที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือICAO ติงไว้ เพื่อปลดล็อคปัญหาที่ประเทศไทย ถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA ) ลดระดับประเทศไทยมาอยู่ในประเภทที่ 2 (Category 2) ให้กลับมาอยู่ประเภทที่ 1 เหมือนเดิม

เนื่องจากการบินไทยมีแผนจะกลับมาเปิดจุดบินเข้าสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้งในปีหน้า หลังจากหยุดทำการบินเข้าลอสแอเจลิสไป จากปัญหาการขาดทุนในเส้นทางดังกล่าว แต่การกลับมาเปิดบินใหม่ กำลังพิจารณาเมืองที่เหมาะสม และไม่คิดจะกลับมาเปิดบินลอสแองเจลิสอีกแน่นอน เพราะไม่สามารถทำกำไรได้

ส่วนการเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ Re-certification หรือการออกAOC ใหม่ ตามแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องของกพท.ที่มี 5 ขั้นตอน ขณะนี้ขั้นตอนของการบินไทยอยู่ในขึ้นตอนที่2 คือ การยื่นคำขออย่างเป็นทางการ (Formal Application Phase) ซึ่งได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อม รอขั้นตอนที่เหลือ ซึ่งจะดำเนินการโดยกพท. ที่จะดำเนินงานในขั้นตอนที่ 3 คือ ขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน (Documents Evaluation Phase) เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนที่ 4 คือการตรวจสอบการปฏิบัติการ (Demonstration and Inspection Phase) และขั้นตอนสุดท้าย จะเป็นการออกใบรับรอง (Certification Phase)

ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และรักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ กพท.เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบกลางวงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ เบื้องต้นมองไว้ที่ 10 คน มาร่วมตรวจสอบสายการบิน ในกระบวนการออก AOC ใหม่ โดยเสนอว่าจ้าง CAA International (CAAi) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ได้รับการรับรอง และเป็นบริษัทในเครือของ UK Civil Aviation Authority (UK CAA) เข้ามาร่วมทำงานกับ กพท.และส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยตรวจสอบสายการบินในกระบวนการออก AOC ใหม่ วงเงิน 3.2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 170 ล้านบาท และค่าหลักสูตรการฝึกอบรม ประมาณ 80 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะสามารถลงนามว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจาก CAAI ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับ กพท. ได้โดยจะเน้นการตรวจสอบการออกใบอนุญาต AOC เป็นหลัก ซึ่งก่อนเริ่มงานผู้เชี่ยวชาญจาก CAAI ต้องเข้ารับการอบรมเรียนรู้กฎระเบียบการบินตามคู่มือของไทย คาดว่าจะใช้เวลาอบรมราว 3 – 4 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อเข้ามาตรวจสอบคู่มือ และจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของ กพท. กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ และจะเข้าสู่การตรวจสอบสายการบินตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งตามกรอบเวลาตรวจสอบสายการบินปกติจะใช้เวลาราว 6 เดือนต่อสายการบิน ขณะนี้มีเพียง 3 สายการบินที่ยื่นเอกสารความจำนงรับการตรวจสอบ ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวยส์ และนกแอร์

" ICAO กำหนดให้ตรวจสอบออกใบอนุญาต 28 สายการบินใหม่ ที่เปิดทำการบินระหว่างประเทศ แต่ กพท. จะดำเนินการตรวจสอบทั้ง 41 สายการบินที่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากเปิดให้ยื่นเอกสารแล้ว แต่พบว่าเอกสารของสายการบินที่ส่งมายังไม่ครบ ยังไม่ชัดเจนก็ต้องตีกลับไปใหม่ และหากสายการบินใดมีเอกสารไม่พร้อมจะปรับลดให้ทำการบินภายในประเทศอย่างเดียวไปก่อน เพื่อไม่ให้ภาพรวมของการตรวจสอบต้องล่าช้า ทั้งนี้กรอบการทำงานปัจจุบันยังวางโจทย์ที่จะตรวจสอบออก AOC ให้เสร็จทั้ง 41 สายการบินภายในปีนี้"

นายจุฬา ยังกล่าวถึงโครงสร้างของกทพ.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดสรรบุคลากรเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ รวมจำนวน 305 คน เพื่อเข้ามาเสริมกับบุคลากรที่โอนถ่ายมาจาก บพ. ราว 197 คน ส่งผลให้ กพท. จะมีบุคลากรตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ 514 คน โดยการเปิดรับสมัครบุคลากรดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน นี้

อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการ กพท. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม2559 บอร์ดได้อนุมัติโครงสร้างอัตราเงินเดือนของสำนักงาน กพท. อาทิ ตำแหน่ง ผอ.กพท. มีการอนุมัติกรอบวงเงิน 350,000 - 500,000 บาท รอง ผอ.กพท. 118,300 – 290,000 บาท ผู้จัดการฝ่าย (ผอ.กอง) 83,760 -240,000 บาท ทั้งยังกำหนดเงินประจำตำแหน่ง ดังนี้ ผอ.กพท. ในอัตรา 25 % ของเงินเดือน รอง ผอ.กพท. 35,000 บาทต่อเดือน ผู้จัดการฝ่าย 25,000 บาทต่อเดือน หัวหน้ากอง 5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559