ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

30 ก.ค. 2565 | 06:21 น.

จับโป๊ะ “เงินช่วยเหลือชาวนา” โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แฉ ปรับรูปแบบใหม่ ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เหลือ 1.5 หมื่นล้าน จับตาปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

“เงินช่วยเหลือชาวนา” ครบรอบ1 เดือนเศษ  นับตั้งแต่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (วันที่ 17 มิ.ย. 2565) แถลง ตั้งข้อสังเกตความเป็นมาเกี่ยวกับงบประมาณของกรมการข้าวว่า ทำไมปีนี้ทางกรมฯของบเข้ามา 17,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าผิดปกติจากปีงบประมาณ 2565 งบของกรมฯแค่ 2,000 ล้านบาท (คลิกอ่าน)

 

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

 

โดยผู้ที่ชี้แจงในวันนั้น ระบุจะนำงบประมาณลงไปให้เกษตรกรทั้งหมด  5,000 ตำบล ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์ละ 3 ล้านบาท วงเงิน 15,000 ล้านบาท จากเดิมรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ปีนี้เปลี่ยนวิธีใหม่ จะให้เงินผ่านศูนย์ข้าวชุมชนแทน จากกระแสดังกล่าวส่งผลทำให้สมาคมชาวนา สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านในวงกว้าง

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดตามตรวจสอบโครงการนี้พบว่า รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จัดทำโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว ในปี 2566 ให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวศูนย์ข้าวชุมชน วงเงิน 15,260 ล้านบาท โดยให้ร่วมกันบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

 

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

 

เสริมสร้างความตระหนักรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ด้านการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การยกระดับคุณภาพสนองความต้องการของตลาด พร้อมทั้งการผลิตข้าวที่ปรับตัวและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ผลผลิตมีคุณภาพ และการแปรรูปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยการสนับสนุนแบบมีเงื่อนไขให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นค่าจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร

 

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สำนักงบประมาณได้ประสานเพื่อประชุมหารือเป็นการภายในกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว(กรมการข้าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมหารือด้วยเนื่องจากติดภารกิจ) เพื่อหารือการเสนอขอตั้งงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา” โดยจะขอให้กรมการข้าวเป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2566 วงเงินโดยประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณมีข้อสังเกตในการขอตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

 

การขอตั้งงบประมาณของโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยรัฐบาลชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการ (ธ.ก.ส. จ่ายเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ของเกษตรกรเป็นรายบุคคล แล้วจึงตั้งงบคืนในปีถัดไป) วงเงินงบประมาณ ประมาณ 54,000 ล้านบาท

 

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 3 รายการ ได้แก่  1.ชดเชยงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร ประมาณ 53,000 ล้านบาท 2.ชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ประมาณ 1,077 ล้านบาท 3. ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. ประมาณ  23 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นว่า งบประมาณสำหรับชดเชยตันทุนเงินของ ธ.ก.ส. และค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดิน และในการดำเนินโครงการดังกล่าว

 

 

โดย ธ.ก.ส. ไม่มีการติดตามประเมินผล มีเพียงรายงานการโอนงบประมาณให้เกษตรกร ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงเห็นว่า หากตั้งงบประมาณตามที่กรมการข้าวเสนอ จะได้มีการติดตามประเมินผลว่าเกษตรกรที่ใด้รับเงินอุดหนุน นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่

 

 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงโครงการไปจากเดิมที่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.ก.ส.ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นรายบุคคล จำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงนโยบายให้ทราบทั่วกันก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจของภาคเกษตรกรและทำให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

 

นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีการตั้งข้อสังเกต ในตัวโครงการของกรมการข้าวว่าจะสามารถลดต้นทุน 5% และพิ่มผลผลิต 5% ก็ไม่สามารถตอบเป็นรูปธรรมได้ โครงการนี้น่าจะเริ่มทดลองก่อนหรือไม่

 

“ก่อนหน้านั้นมีงบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กว่า 6,000 ล้านบาท ไปทำในส่วนของแปลงใหญ่ ใช้ไปแค่ 3,000 ล้านบาท ทั้งที่กรมนี้มีกำลังพล  1 หมื่นคนแต่กรมการข้าวมีแค่ 2,000 คน มองว่ากรมที่ใหญ่กว่ายังทำไม่สำเร็จ ขนาดมีงบประมาณที่น้อยกว่ายังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างก็ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนก็กลัวว่าเกิดทุจริตคอรัปชั่นได้ อย่างไรก็ตามทางคณะอนุฯ ให้ผ่าน โดยไม่ตัดงบประมาณ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตไว้”

 

ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล

 

ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวว่า  การใช้เงินอุดหนุนผ่านศูนย์ข้าวชุมชนให้เข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่าไปแย่งงบประมาณคนอื่นมา ทั้งนี้อยากให้ศึกษาโมเดล “แปลงใหญ่” ว่า ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ปัจจุบันศูนย์ข้าวชุมชน มี 2,478 แห่ง ตั้งเป้าตั้งให้ครบ 5,000 ศูนย์ เพื่อความสง่างามของกรมการข้าว และศูนย์ข้าวชุมชน  หากจะเร่งจัดตั้งให้ครบ ถามหาคุณภาพว่าอยู่ตรงไหน หากเอาเงินงบประมาณ เป็นตัวตั้งแล้วเอาคนไปยัดใส่ จะได้ไม่คุ้มเสีย ศูนย์ข้าวชุมชนจะต้องค่อย ๆ เติบโต

 

ปฏิวัติเงินช่วยชาวนา เดิมพันเลือกตั้งครั้งใหม่

ด้าน นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม เผยว่า ในส่วนวาระที่ 2 และ 3 คาดว่าจะมีการอภิปรายในสภา กลางเดือนหน้า ทางพรรคชาติไทยได้ สงวนคำแปรญัตติไว้เรื่องการยกเลิกโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000  บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (รวม 20,000 บาท/ครัวเรือน) เนื่องจากจะซํ้าช้อนกับโครงการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเป็นการซํ้าเติมให้ชาวนาเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

 วัดใจรัฐบาลจะเดินหน้าปฏิวัติเงินช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบใหม่ โดยหวังผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปีหน้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องติดตาม

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28-30 กรกฎาคม 2565