ผ่าปมร้อน งบลับ 1.3 หมื่นล้าน เสริมเขี้ยวเล็บ ทอ.

13 ม.ค. 2565 | 07:59 น.

ปมร้อนที่กำลังถูกจับตาก็คือ งบลับ 1.3 หมื่นล้าน เสริมเขี้ยวเล็บ ทอ. “การจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16”

ประเด็นที่ร้อนฉ่าท่ามกลางกระแสความแรงของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย ก็เกิดเรื่องราวชวนให้หลายคนสงสัยในการใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โดยเฉพาะ “การจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16” งบประมาณ 13,800 ล้านบาท จำนวน 4 เครื่องแรก ซึ่งจะผูกพันงบประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569

โดยเมื่อวันนี้ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวาระลับ เอกสารริมแดง กรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2566 และก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาทในโครงการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 งบประมาณ 13,800 ล้านบาท

เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าบรรลุผลทางนโยบายของ “บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์” ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ก็คงไม่ผิดนัก เพราะตอนที่เข้ามารับตำแหน่ง มีการชูนโยบายขับเคลื่อนกองทัพอากาศคุณภาพ ภายใต้นโยบายสำคัญ 6 ด้าน หนึ่งในนั้นคือ “กำลังทางอากาศที่เข้มแข็ง”

 

และจะเรียกว่าเหมือนการสานฝันในยุค ของบิดา “พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์” หรือไม่นั้นก็ยังเป็นคำถามชวนให้คิดอยู่เหมือนกัน เพราะบิ๊กป้องเองได้เห็นและศึกษาแนวทางของกองทัพอากาศสมัยที่บิดารับตำแหน่ง ผบ.ทอ. และเคยบอกว่าเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 ที่มีอยู่ในประเทศไทยควรปลดระวาง เพราะเก่าและค่าซ่อมแซมสูง ทำให้กองทัพอากาศจำเป็นต้องหาฝูงบินใหม่ โดยเฉพาะ F- 35 มาทดแทนของเดิม

 

เรื่องราวต่างๆ เริ่มคลี่ออกมาให้เห็นเป็นฉากๆ กระจ่างชัดขึ้นต่อสายตาประชาชน เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 11-20 ธันวาคม 2564 “บิ๊กแก้ว-พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปสหรัฐฯ ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ โดยมีภารกิจในการเข้าพบบุคคลสำคัญ ดังนี้  พลเอก มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะคณะเสนาธิการร่วม ร่วมหารือถึงวัตถุประสงค์ร่วม “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” 

 

ว่ากันว่าเป็นการหารือร่วมกันว่าก่อนที่ไทยจะเปิดรับการฝึก Cobra Gold 2022 ในวงรอบ Heavy Year อีกครั้ง ที่จะจัดกำลังเต็มรูปแบบร่วมกว่าหมื่นนาย ยกพลมาฝึก ถือเป็นครั้งแรกนประวัติศาสตร์ เห็นว่าตอนนี้ทีมซับพอร์ตเข้ามาแล้ว และตามแผนอยู่ที่ช่วงปลายเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้

 

นอกจากนี้ยังได้เข้า ดร.อีไล เอส.แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกิจการความมั่นคงภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก และยังเป็นแขกในงานเลี้ยงอาหารค่ำของ พล.อ.แดเนียล อาร์.โฮเกนสัน ผู้บัญชาการหน่วยรักษาดินแดน พูดคุยเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันในการยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์และความสามารถในการปฎิบัติการร่วมกันระหว่างกองกำลังของทั้งสองประเทศและประชาคมทั่วภูมภาคอินโด-แปซิฟิก

 

ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือบอกว่ามีเครื่องบินเที่ยวพิเศษบินมาเยือนประเทศไทยแบบลับๆ และกลับสหรัฐฯ ไป นั่นคือ “พล.อ.มาร์ก เอ.มิลลีย์” ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ว่ากันว่าเป็นผู้ที่รายงานตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

คณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ถือเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาทางทหารระดับสูงในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับยุทธศาตร์ทางทหาร คณะเสนาธิการร่วม ซึ่งดูแลควบคุมทั้ง เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารนาวิกโยธิน หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการทางเรือ เสนาธิการทหารอากาศ หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการทางอากาซ หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ชาติ เข้ามาในประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564  ที่ผ่านมา เพื่อเจรจาความลับกับหน่วยความมั่นคงของไทยและผู้นำรัฐบาล แว่วว่าพบได้ปะกับบิ๊กป้องด้วย

 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าหากเครื่องบินที่จะจัดซื้อดังกล่าวเป็น F-35 เครื่องบินขับไล่ของ “บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน” บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ค้าอาวุธสัญชาติสหรัฐจริงตามข่าว แตกต่างกันอย่างไรกับเครื่องบินขับไล่ F-16

 

F-35 เครื่องบินขับไล่ เป็นเครื่องบิน ไลท์นิ่ง 2 (อังกฤษ: F-35 Lightning ll) รุ่นที่ 5 หนึ่งที่นั่ง หนึ่งเครื่องยนต์ เป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีหลากหลายบทบาทแบบล่องหน ใช้เรดาห์จับไม่ได้ สามารถให้การสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด การทิ้งระเบิดทางยุทธวิธี และการป้องการทางอากาศ 

 

F-35 มีทั้งหมด 3 รุ่น คือ แบบขึ้น-ลงปกติ แบบขึ้น-ลงในแนวดิ่ง และแบบที่ใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน ถือเป็นเครื่องบินปัจุบันยอดเยี่ยมที่สุด มี “รอยัล วิงแมน” คือเครื่องบินไร้คนขับที่ติดอาวุธได้ มีสมรรถนะสูง สามารถเป็นเครื่องลูกหมู่ของ F -35 ได้

 

กองทัพอากาศออสเตรเลียได้สร้างโครงการรอยัล วิงแมน ขึ้นมา ร่วมกับโบอิ้งเพื่อให้ เอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซุปเปอร์ฮอร์เน็ตของ ทอ.ออสเตรเลีย มีรอยัล วิงแมนแล้ว และครื่องบินล่วงหน้าได้เป็น 100 ไมล์ ลุยก่อนแบบไม่มีนักบิน ฉะนั้นจะมีปลอดภัยสูง  

 

ไปดูกันต่อที่ราคา F-35 แต่ละรุ่นกันบ้าง ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ F- 35 ที่เข้ามามีทั้งหมด 3 รุ่น ที่เป็นราคาเดิมที่ไม่รวมการพัฒนาจากล็อกฮีด มาร์ติน

  • F-35 A 122 ล้านเหรียญ
  • F-35 B 150 ล้านเหรียญ
  • F-35 C 139 ล้านเหรียญ

 

เครื่องบินขับไล่ F-35 ที่ว่านี้ หากได้มาจริงๆ ประเทศไทยจะเป็นชาติที่ 2 ในอาเซียน ที่ซื้อฝูงบินสมรรถนะสูง F-35 มาประจำกองบิน โดยประเทศแรกคือสิงคโปร์ซื้อเฟสแรก 4 ลำ มีกำหนดส่งมอบปี 2569

 

ในส่วนสหรัฐฯ มีการตกลงซื้อฝูงบิน F-35 จากเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ  ได้ใช้เงินซื้อเครื่องบินรบรุ่นนี้ไปกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13.295 ล้านล้านบาท) คิดเป็นจำนวน 2,500 ลำ

  • เครื่องบินรบรุ่น F-35 A ให้กับกองทัพอากาศสหรัฐ กว่า 1,763 ลำ
  • เครื่องบินรบรุ่น F35-B แบบขึ้นลงทางดิ่งให้กับเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ 353 ลำ
  • เครื่องบินรบรุ่น F-35 C ให้กับเหล่านาวิกโยธินและกองทัพเรือสหรัฐฯ กว่า 340 ลำ

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะส่งออกเครื่องบินรบ F-35 ทั้งหมดรวมกว่า 900 ลำ ไปจนถึง 2589  

 

คำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับความฝันเชิงนโยบายของบิ๊กป้อง ว่าทำไมต้องซื้ออาวุธใหม่ งบก้อนโต ในช่วงที่ประเทศขาดแคลนงบประมาณจากผลกระทบของโควิด

 

“เรายอมรับในความไม่มี รับทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวและเมื่อยอมรับก็ต้องหาหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้วยการทยอยจัดซื้อครั้งละน้อยแต่เลือกของที่มีคุณภาพสูงและเรียนรู้เทคโนโลยีที่ได้รับ ซึ่งถ้าทำจริงๆกองทัพอากาศไม่มีวันที่จะทำร้ายประชาชนให้เดือดร้อน เพราะเรารู้สถานการณ์อยู่แล้ว แต่คงต้องถามประชาชนว่ารับได้หรือไม่ อย่างที่บอกว่าตนและกองทัพอากาศรักสิ่งที่เราทำเหมือนลูก และสิ่งที่เรามีไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อประชาชน” บิ๊กป้อง กล่าวและว่า 

 

ตัวเลข 142 ล้านเหรียญ เป็นราคาเครื่องเปล่า ไม่รวมอุปกรณ์สนับสนุน เราก็ฌฝ้ามองมาโดยตลอด ราคาลงมาอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเครื่อง (2.7 พันล้านบาท) ขณะที่เครื่องบิเน JAS-39 E/F กริพเพน Gripen Next Gen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ดังนั้น F- 35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง อยู่ที่การต่อราคากับบริษัทให้ได้ราคาต่ำสุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะได้ราว 75-76 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป หากเจรจาได้มันก็จะดีมากเลย เท่ากับเราได้ซื้อของครึ่งราคาเพราะตลาดเครื่องบินรบรายอื่นแทบขายไม่ออก

 

เมื่อย้อนดูฝูงบินชับไล่ในมือของกองทัพอากาศที่ปกป้องน่านฟ้าไทย  ตามประวัติศาสตร์พบว่า ทอ.มีฝูงบินขับไล่ 16 ลำ แบ่งเป็นการซื้อ F-16 A/B 2 ฝูงแรกมา 18 เครื่อง  จำนวน 2 เครื่องที่เกินเอาไว้สำรอง กรณีเกิดการสูญเสีย (Attrition loss) เช่น จากอุบัติเหตุ

F-16 ADF ที่ซื้อมา 16 เครื่อง มีเครื่องสำรองแบบบินไม่ได้อีก 2 เครื่อง 

F-5E/F mod มีจำนวนเครื่องประมาณนี้เช่นกัน

 

คำถามใหญ่ที่ดูจะเป็นกระแสวิพากวิจารณ์อย่างหนักก็คือ “เงินน่ะมีไหม” ในกระเป๋ามีอยู่เท่าไหร่ เพราะต้องบอกว่าเงินที่ใช้อยู่ตอนนี้เป็นเงินกู้มา เเต่อนาคตก็ต้องวางแผนหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอากาศ  

 

งบประมาณปี  2565

กองทัพบก

  • ตั้งไว้ 39,694,972,200 บาท
  • ปรับลด 1,480 ล้านบาท
  • งบเสริมกำลังกองทัพบกหรืองบซื้ออาวุธ ตั้งไว้ 15,858,040,000 บาท ถูกปรับลด 1,084,360,400 บาท

 

กองทัพเรือ

  • ตั้งไว้ 18,632,080,800 บาท
  • ปรับลด 996,880,000 บาท
  • งบเสริมกำลังกองทัพเรือหรืองบซื้ออาวุธ ตั้งไว้ 7,952,267,900 บาท ถูกปรับลด 908,500,000 บาท

 

กองทัพอากาศ

  • ตั้งไว้ 24,932,604,900 บาท
  • ปรับลด 610 ล้านบาท
  • งบซื้ออาวุธ ตั้งไว้ 9,932,814,000 บาท ปรับลด 481 ล้านบาท

โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์

  • ตั้งไว้ 1,931,329,200 บาท ปรับลด 14 ล้านบาท
  • โครงการส่งเสริมกองทัพที่ผูกพันข้ามปีตามสัญญาและมาตรา 41 จำนวน 22 รายการ รวม 32,050,125,300 บาท เฉพาะปี 65 ตั้งไว้ 8,001,484,800 บาท ปรับลด 467 ล้านบาท

 

คงต้องจับดูว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะจัดซื้อเครื่อง F-35 จากสหรัฐฯหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ จะพิจารณาความจำเป็นทางยุทธการว่าจะเลือกเครื่องบินแบบใด ที่เหมาะสมกับกองทัพอากาศ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด แต่ ผบ.ทอ.ได้ตั้งไว้ว่าต้องการเครื่อง F-35