ย้อนตำนาน “TRUE” รุกธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก่อนผนึก “DTAC” ครองเบอร์หนึ่ง

23 พ.ย. 2564 | 03:19 น.

ย้อนตำนานธุรกิจกลุ่ม "TRUE" จากธุรกิจโทรศัพท์บ้าน ขยายอาณาจักรรุกโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก่อนประกาศผนึกกำลังกับ "DTAC" ขึ้นเบอร์หนึ่งในเมืองไทย

จากกรณที่ TRUE บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ DTAC หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินขั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมบริษัทกัน ภายใต้โครงสร้างจำนวนหุ้นบริษัทใหม่ที่ 138,102 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการแปลงหุ้น DTAC เดิม สัดส่วน 1 หุ้น DTAC : 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้น TRUE เดิม สัดส่วน 1 TRUE : 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ 

 

 

 

ภายใต้สัดส่วนดังกล่าว หลังรวมผู้ถือหุ้น DTAC และ TRUE จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วน 42.1% และ 57.9%  โดยการควบรวมจะเกิดขึ้นหลังจากดำเนินตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม คือ Telenor และกลุ่ม CP จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ "บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด  ( Citrine Global) "  เพื่อทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจจาก DTAC และ TRUE ที่ราคาหุ้นละ 47.76 และ 5.09 บาท

 

อย่างไรก็ตามการก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของ TRUE จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” พามาย้อนไทม์ไลน์ รายละเอียดดังนี้

 

ก่อนที่ TRUE ลงทุนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ TRUE ได้สัมปทานโทรศัพท์บ้านจำนวน 2.6 ล้านเลขหมายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันควบรวมกับ CAT เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งให้บริการโทรศัพท์มือถือพกพา WE PCT (ยุติบริการแล้ว)

 

  • หลังจากนั้นปี 2533 จัดตั้ง บริษัท ทรู มูฟ  เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดย ทรู ถือหุ้น 99% ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อยอดธุรกิจลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 TRUE  ซื้อหุ้น บริษัท ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (HWMH) หุ้นของบีเอฟเคที หุ้นของ Rosy Legend และ หุ้นของ Prospect Gain บนคลื่นความถี่ 850 MHz  มูลค่าซื้อขายหุ้นครั้งนั้น รวม 4.35 พันล้านบาท

 

 

ย้อนตำนาน “TRUE” รุกธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก่อนผนึก “DTAC” ครองเบอร์หนึ่ง

  • ปี 2544 กลุ่ม TRUE ร่วมทุนกับ ออเร้นจ์ จากประเทศฝรั่งเศส ภายใต้ชื่อ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังจากนั้น “ออเร้นจ์” ถอนทุนจากไทยโดยขายหุ้นที่ถือจำนวน 39 % ในราคาหนึ่งบาท โดย ทรู ยอมควักเงินลงทุนจำนวน 6 พันล้านบาทลงทุนธุรกิจเคลื่อนที่เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งรีแบรนด์สินค้าเปลี่ยนชื่อเป็น “TRUEMOVE H” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

  • ปี 2557 กลุ่มทรู ได้ CHINA MOBILE INTERNATIONAL HOLDINGS LIMITED เข้ามาถือหุ้นจำนวน 18% จัดสรรหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) มูลค่าประมาณ 28,600 ล้านบาท 

 

 

หลังจากได้พันธมิตรรายใหม่ TRUE ปักธงธุรกิจเข้าประมูลคลื่นความถี่จาก กสทช. ต่อเนื่องปัจจุบันมีคลื่นให้บริการดังนี้

  • คลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz
  • คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz
  • คลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz
  • คลื่น 2100 MHz จำนวน 15  MHz
  • คลื่น 2600 MHz  จำนวน 90 MHz  
  • คลื่น 26 GHz  จำนวน 800 MHz

รวมคลื่นที่ ทรูมูฟ เอช ถือครองอยู่จำนวนทั้งสิ้น  940 MHz

 

หมายเหตุ: ยังไม่รวมเช่าใช้คลื่นความถี่จากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

 

ส่วน DTAC  ก่อนหน้านี้ตระกูลเบญจรงคกุล เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หลังจากนั้นได้ขายหุ้นให้ เทเลนอร์ มูลค่ากว่า 9.2 พันล้านบาท  ปัจจุบัน TELENOR ASIA PTE LTD ถือหุ้นจำนวน 1,086,052,874 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 45.87%.