Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta การรีแบรนด์กับเดิมพันครั้งสำคัญสู่โลกอนาคต

29 ต.ค. 2564 | 10:33 น.

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook (เฟซบุ๊ก) เป็น Meta (เมทา) เช้าวันนี้ (29 ต.ค.) หลังจากที่มีข่าวมาระยะหนึ่งแล้วว่า บริษัทกำลังจะรีแบรนด์และปรับโฉมตัวเองใหม่เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์และบริการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

จาก Facebook เป็น Meta การเปลี่ยนชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการครั้งนี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศด้วยตัวเองโดยเขาโพสต์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Mark Zuckerberg วันนี้ (29 ต.ค เวลาประมาณ 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) พร้อมข้อความสั้น ๆ “ฮัลโหล เมทา” (Hello, Meta) ประกอบภาพตัวเองยิ้มสดใสหน้าป้ายขนาดใหญ่ที่มีคำว่า Meta และโลโก้ที่ดูคล้าย ๆ แว่นตา แต่ดูอีกทีเป็นเครื่องหมายวงแหวน infinity (อินฟินิตี) สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์และปรัชญาที่หมายถึง “ความไม่มีขอบเขตสิ้นสุด” “ไม่มีที่สิ้นสุด” หรือ “อนันต์”   

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กับชื่อและป้ายใหม่ของบริษัท

วันเดียวกันนั้น ซักเคอร์เบิร์กยังโพสต์ “จดหมายจากผู้ก่อตั้ง” หรือ founder’s letter ที่ยาวกว่าและอธิบายที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ไว้อย่างละเอียด ซึ่งหากจะกล่าวโดยสรุปก็คือ เฟซบุ๊กตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและบริการใหม่ ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการปูทางให้ทุกคนก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่เป็น “โลกเสมือนจริง” และสนุกไปกับมัน โดยจากนี้ไปบริษัท (ในนาม “เมทา” ซึ่งตัดทอนมาจากคำว่า “เมทาเวิร์ส”) จะให้ความสำคัญกับ เมทาเวิร์ส (metaverse) เป็นลำดับแรก

 

ทำความรู้จัก "เมทาเวิร์ส" 

ได้ยินคำนี้แล้ว หลายคนคงเกิดคำถามว่ามันคืออะไร? สำหรับคนภายนอก “เมทาเวิร์ส” อาจจะเป็นเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality—VR) ในแบบที่ล้ำสมัยขึ้นไปอีก แต่สำหรับบางคน พวกเขามองว่า เมทาเวิร์สคืออนาคตแห่งโลกอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง เรามาทำความรู้จัก “เมทาเวิร์ส” กันสักหน่อยดีกว่า

 

บางคนเปรียบเปรยว่า มันอาจจะเหมือนกับสมาร์ทโฟนในยุคสมัยใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์มือถือในยุคทศวรรษ 1980 และแทนที่จะอยู่ในคอมพิวเตอร์ ในโลกของ “เมทาเวิร์ส” คุณอาจใช้แว่นตาหรือชุดหูฟังในการเข้าสู่โลกเสมือนจริงเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมดิจิทัลทุกอย่างได้

เปลี่ยนชื่อและป้ายชื่อหน้าสำนักงานใหญ่วันนี้

นอกจากนี้ เมทาเวิร์สยังต่างจาก VR ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในการเล่นเกม แต่โลกเสมือนจริงของเมทาเวิร์สอาจถูกใช้งานในการทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งการทำงาน เล่นเกม ชมคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์ หรือการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ เพราะเหตุนี้ ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยี นักการตลาด และนักวิเคราะห์ จึงเชื่ออย่างมากว่า นี่คือสิ่งล้ำยุคในโลกอนาคตและเป็นตัวกำหนดอนาคตแห่งโลกอินเทอร์เน็ต แล้วถ้าหากว่าพวกเขาไม่กระโดดขึ้นเรือลำนี้ก็ย่อมจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง “เฟซบุ๊ก” เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่บนเรือลำนี้

 

บริษัทเทน้ำหนักให้ความสำคัญกับเมทาเวิร์สเป็นลำดับแรก ๆ และลงทุนไปมากแล้วในเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) ข่าวระบุว่า เฟซบุ๊กลงทุนมูลค่ามหาศาลในเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนผ่านอุปกรณ์หูฟังโอคูลัส (Oculus) ทำให้มันมีราคาถูกกว่าของคู่แข่ง และอาจจะถึงขั้นขาดทุน นอกจากนี้ บริษัทยังได้สร้างแอปพลิเคชัน VR หลายตัวสำหรับการสังสรรค์ เข้าสังคม และการทำงาน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง

 

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กทุ่มเงินลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 1,670 ล้านบาท) สนับสนุนกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหลายราย ให้ช่วยสร้างเมทาเวิร์ส “อย่างมีความรับผิดชอบ” โดยผู้บริหารของเฟซบุ๊กระบุว่าจะร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ พัฒนาและปลุกปั้นเมทาเวิร์สขึ้นมา เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถสร้างขึ้นโดยบริษัทใดเพียงบริษัทเดียวภายในเวลาชั่วข้ามคืน ท่าทีดังกล่าวค่อนข้างแตกต่างไปจากเดิมเพราะเฟซบุ๊กนั้นเคยมีประวัติในด้านการใช้วิธีเข้าซื้อกิจการของบริษัทคู่แข่ง เมื่อต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สำหรับ “เมทาเวิร์ส” แล้ว เฟซบุ๊กเชื่อว่านอกจากต้องมองหาเครือข่ายพันธมิตรร่วมพัฒนาแล้ว  ยังต้องใช้เวลาอีกด้วย อย่างน้อย 10-15 ปี

Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta การรีแบรนด์กับเดิมพันครั้งสำคัญสู่โลกอนาคต

เฟซบุ๊กมองว่า เมทาเวิร์สสามารถซึมแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ใช่จำกัดแค่ในการเล่นเกมส์หรือการใช้แง่บันเทิงและสันทนาการ ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ บริษัทได้ทดลองแอปพลิเคชันประชุม VR ที่ชื่อว่า เวิร์กเพลซ (Workplace) และแอปพลิเคชันสำหรับการเข้าสังคมที่ชื่อว่า ฮอไรซันส์ (Horizons) โดยทั้งสองแอปพลิเคชันนี้ได้ใช้คาแรคเตอร์ที่คล้ายตัวการ์ตูนที่เรียกว่า “อวาทาร์” หรือตัวแทนผู้ใช้งานเสมือนจริง (virtual avatar system) แทนตัวผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีแอปฯ VRChat (วีอาร์แชท) ซึ่งเป็นแอปฯ VR อีกตัวหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้งานในด้านการสังสรรค์และพูดคุยกันทางโลกออนไลน์ โดยไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสำรวจสภาพแวดล้อมและการพบปะผู้คน

 

นอกจากนี้ ในแง่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า ในเมทาเวิร์ส ผู้ใช้อาจจะทดลองสวมเสื้อผ้าดิจิทัลได้ก่อน ซึ่งเมื่อลองจนพอใจแล้ว ก็ค่อยสั่งซื้อเสื้อผ้าจากร้านค้าให้มาส่งในโลกแห่งความเป็นจริง

  

ก้าวแรกที่ต้องเริ่มแม้หนทางอีกยาวไกล                                                                                                                

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า โลกดิจิทัลที่ก้าวหน้ามากขึ้นจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกันที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นด้วยการมาของเทคโนโลยี 5G ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี VR มีความก้าวหน้าขึ้นมาก มีหูฟังดีไซน์ทันสมัยที่สามารถหลอกตาคนให้เห็นภาพสามมิติได้ ขณะที่ผู้ใช้งานเคลื่อนที่ไปในโลกเสมือนจริง มันได้กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้งานมากขึ้น และทำความคุ้นเคยมากขึ้น โดยชุดหูฟังโอคูลัส เควสต์ 2 (Oculus Quest 2) สำหรับเล่นเกม VR นับเป็นหนึ่งในของขวัญยอดนิยมในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีที่ผ่านมา (2563)

 

แม้จะดูว่าทุก ๆอย่างกำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น แต่การพัฒนาเมทาเวิร์สก็ได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี รวมทั้งเฟซบุ๊ก หรืออันที่จริงคงต้องเรียกว่า “บริษัท เมทา” ในตอนนี้ คงจะต้องต่อสู้แข่งขันกันในช่วงสิบปีข้างหน้าหรืออาจจะยาวนานกว่านั้น เพื่อช่วงชิงการผู้นำในโลกอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต หนทางอีกยาวไกล แต่บิ๊กไฮเทคทั้งหลายได้เริ่มก้าวเดินสู่เส้นทางนี้แล้ว

 

สำหรับเฟซบุ๊ก บทบาทในครั้งนี้คือการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน แพลตฟอร์มโซเชียล และเครื่องมือสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อทำให้เมทาเวิร์สมีชีวิต และผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้ผ่านแอปฯโซเชียลมีเดียที่บริษัทมีอยู่ ผู้บริหารของเฟซบุ๊กเชื่อว่า เมทาเวิร์สจะสามารถเปิดประสบการณ์ทางสังคมที่ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

ข่าวระบุว่า เฟซบุ๊ก มีพนักงานจำนวนกว่า 10,000 คน ที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาอุปกรณ์ AR (Augmented Reality เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง ซึ่งกำลังได้รับความนิยม) เพื่อพาบริษัทขยับเข้าสู่ความเป็นจริงในโลกเมทาเวิร์ส บริษัทกำลังมุ่งพัฒนาอุปกรณ์ AR และ VR ให้เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายเหมือนกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ทุกคนจำเป็นต้องมี

 

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กยังประกาศจะจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 อัตราเพื่อรองรับการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเมทาเวิร์สในทวีปยุโรป ก่อนหน้านั้น บริษัทยังได้มอบหมายให้แอนดรูว์ บอสเวิร์ธ ขึ้นมานั่งแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ควบคู่ไปกับตำแหน่งหัวหน้าทีมพัฒนา AR และ VR

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนเฉพาะชื่อของบริษัทแม่เท่านั้น แต่ตัวแอปพลิเคชันหรือโปรดักท์ต่าง ๆ ที่เป็นโซเชียลมีเดียในเครือบริษัทจะใช้ชื่อเดิม อย่างเช่น Instagram (อินสตาแกรม) Facebook (เฟซบุ๊ก) Messenger (Messenger) และ WhatsApp (วอตส์แอปป์)

 

“เมทาเวิร์ส” กับโควิด-19

ขอพ่วงท้ายไว้เป็นเกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเมทาเวิร์สในโลกอินเทอร์เน็ตว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โลกก็ต้องพบกับการ “ล็อกดาวน์”  การทำงานจากบ้าน และการกักตัวซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน ไม่มีโอกาสได้ออกไปเดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมบางอย่าง เช่นการเข้าพิพิธภัณฑ์ ออกกำลังกาย ประชุมกันหลายๆ คน หรือดูคอนเสิร์ต ได้เช่นในช่วงเวลาปกติ สถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวคิดเมทาเวิร์ส ซึ่งเป็นการผนวกโลกความจริงเสมือนเข้ากับชีวิตจริง หรือการหลอมรวมโลกออนไลน์เข้ากับโลกออฟไลน์ กลายเป็นประเด็นที่บรรดาบริษัทไฮเทคในซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) ให้ความสนใจ เพราะเมทาเวิร์ส สามารถตอบโจทย์ ด้วยการสร้างบรรยากาศรายล้อมเสมือนว่าเรากำลังอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากำลังทำกิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายในบ้านของตัวเอง

 

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ให้สัมภาษณ์นิตยสาร The Verge (เดอะ เวิร์จ) ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมทาเวิร์สคืออนาคตของบริษัท หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ ในอีก 5 ปีข้างหน้า เฟซบุ๊กจะไม่ได้เป็นแค่บริษัทโซเชียลมีเดีย แต่จะเป็นบริษัทที่มีบริการและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเมทาเวิร์สเป็นแกนหลัก การประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ในวันนี้เป็นเพียงการลั่นกลองประกาศเป้าหมายชัดเจนเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านี้ บริษัทเริ่มเตรียมตัวมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการบริษัท Oculus VR ในปี 2557 หรือการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AR และก่อตั้ง Facebook Reality Labs เพื่อรวบรวมนักวิจัย นักพัฒนา และวิศวกรจากทั่วโลก มาระดมความคิดและผสมผสานความเป็น AR กับ VR เข้าด้วยกัน ให้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายปลายทางที่เรียกว่า "เมทาเวิร์ส" ในที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง