ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3 “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

29 ต.ค. 2564 | 08:26 น.

 ผ่านมา 2 ปีแล้วสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรในปีที่ 1 (ปีการผลิต 2562/63) และปีที่ 2 (ปีการผลิต 2563/64) ซึ่งโครงการนี้เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงการหาเสียง และเป็น 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องเกษตรกร

ทั่วประเทศให้มีหลักประกันรายได้ที่แน่นอนช่วงราคาผลผลิตต่ำกว่าราคาประกัน โดยการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูก 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน

 สรุปจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ รวม 2 ปีการผลิต รัฐบาลได้ใช้เงินจ่ายชดเชย (เงินจ่ายขาด)ส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรไปกว่า 119,867 ล้านบาท และหากรวมกับมาตรการคู่ขนานต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้เพิ่มกับเกษตรกร เช่น ค่าต้นทุนการผลิต ค่าเก็บเกี่ยว สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ชดเชยดอกเบี้ย และอื่น ๆ รัฐบาลได้ใช้เงินไปแล้วมากถึง 228,879 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินไม่น้อยทีเดียว แต่ทั้งนี้โครงการได้ผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกร แม้จะมีเสียงติติงมาบ้างจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่ระบุเป็นการเสพติดประชานิยม ทำให้เกษตรกรไม่มีการพัฒนา

ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3  “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

 ตัวอย่าง โครงการประกันรายได้ข้าวใน 2 ปีการผลิตที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินชดเชยไปแล้วรวม 67,591 ล้านบาท และมีโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตต่อไร่(1,000 บาทไม่เกิน 20ไร่) ชดเชยไปแล้วรวม 104,614 ล้านบาท พ่วงมาตรการคู่ขนาน เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการชะลอสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และโครงการชดเชยดอกเบี้ย เมื่อรวมเม็ดเงินการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคา บวกโครงการช่วยเหลือฯและมาตรการคู่ขนานแล้วเฉพาะข้าวได้ใช้เงินไปแล้วรวม 176,490 ล้านบาท 

ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3  “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

ส่วนโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง รัฐบาลจ่ายชดเชยรวม 11,048 ล้านบาท และหากพ่วงมาตรการคู่ขนาน ทั้งสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลัง ชดเชยดอกเบี้ย เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและแปรรูป รวม 2 ปีการผลิตใช้เงินไปแล้วรวม 11,060 ล้านบาท, โครงการประกันรายได้ข้าวโพดสัตว์เลี้ยง รัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนต่าง 2,286 ล้านบาท พ่วงมาตรการคู่ขนานเช่น สินเชื่อรวบรวมข้าวโพด ชดเชยดอกเบี้ย ใช้เงินไปแล้วรวม 2,290 ล้านบาท 

 โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง 7,221 ล้านบาท และหากพ่วงมาตรการคู่ขนาน (ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม) อีก 109 ล้านบาท ใช้เงินไปแล้วรวม 7,330 ล้านบาท (โดยในปีที่ 2 รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาปาล์มงวดที่ 1-8 จากราคาปาล์มสูงกว่าราคาประกัน) และโครงการประกันรายได้ยางพารา จ่ายชดเชยไปแล้วรวม 31,709 ล้านบาท (ไม่มีมาตรการคู่ขนาน) 

ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3  “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

 จะเห็นได้ว่า โครงการประกันรายได้ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรค่อนข้างสูงเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินส่วนต่างที่รัฐบาลชดเชย ขณะที่ฝ่ายการเมืองเองก็ได้คะแนนเสียงนิยมตามมา ถือว่า วิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย

 ล่าสุดรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้ปี 3 ( 25 ต.ค.) ใน 3 รายการ ได้แก่ ข้าว 5 ชนิด วงเงิน 18,000 ล้านบาท, มันสำปะหลัง วงเงิน 7,100 ล้านบาท และข้าวโพด วงเงิน 1,900 ล้าน รวมอนุมัติวงเงินแล้ว 27,000 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ยางพาราได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณากรอบการใช้เงินตามมาตรา 28 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ก่อนบรรจุเข้าวาระพิจารณาของครม.ต่อไป ขณะที่ประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ล่าสุดอยู่ระหว่างกรนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งในทุกสินค้ายังคงหลักการประกันรายได้เช่นเดียวกับในปีที่  2 ทุกประการ โดยประกันรายได้ปี 3 ใน 5 พืช เบื้องต้นคาดใช้วงเงิน (รวมมาตรการคู่ขนาน) รวมกว่า 1.78 แสนล้านบาท

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการประกันรายได้จะได้รับเสียงชื่นชมจากเกษตรกร แต่ในทางกลับกันใช่ว่าโครงการนี้ทุกฝ่ายจะเห็นดีเห็นงาม เพราะหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการสร้างพฤติกรรมเสพติดประชานิยมของเกษตรมากเกินไป แม้จะใช้เม็ดเงินน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าว (โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 รอบการผลิต ปี 2554-2556 ใช้เงินไป 8.78 แสนล้านบาท) และมีปัญหาการทุจริตตามมาน้อยกว่าก็ตาม

ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3  “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

 ขณะเดียวกันยังเปิดช่องให้โรงสีบางโรงกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ส่งผลราคาข้าวในตลาดตกต่ำ และรัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยสูง อีกทั้งเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาเร่งปลูกข้าว เพื่อหวังรายได้เพิ่มจากโครงการฯโดยไม่สนใจพัฒนาคุณภาพข้าว ยิ่งสร้างปัญหาใหม่เพิ่ม ซึ่งทางออกหนึ่งที่ควรจะเป็นคือรัฐต้องพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวในหลากหลายสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี

ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นที่ต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และมีทางเลือกช่องทาง การขาย และช่องทางการตลาด ที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีและเพิ่มขึ้น ไม่ต้องพึ่งโครงการประชานิยมต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาว

ทุ่ม 1.7 แสนล้านประกันรายได้ปี 3  “หว่านพืชหวังผล”รับศึกเลือกตั้ง

 กลิ่นโชยยุบสภา และการประลองกำลังวัดกระแสความนิยมจากประชาชนที่กำลังแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายพรรคการเมืองเร่งทำการบ้านรับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ ขณะที่โพลระบุแคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรีสมัยหน้าปรากฏชื่อพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (เจ้าของนโยบายประกันรายได้) เป็นคู่ชิง ต้องจับตาว่าโครงการประกันรายได้ที่ถือเป็นการหว่านพืชเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังมีมนต์ขลังเรียกคะแนนเสียงได้ตามอย่างท่วมท้นอีกหรือไม่ แต่หากในอนาคตไม่มีโครงการประกันรายได้ ชีวิตของเกษตรกรจะเป็นอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564