ศิริราช จับมือ MIT เฟ้นหานวัตกรรมดูแลผู้สูงวัย

09 ส.ค. 2567 | 10:55 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 10:57 น.

ครั้งแรกในอาเซียน ศิริราช จับมือ MIT จัดตั้งโครงการเพื่อค้นหานวัตกรรมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ มั่นใจการแข่งขัน Hackathon จะช่วยให้ประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาสูงวัยมากขึ้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ถึง 80% ของประชากรทั้งหมด สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) ภาวะสมองเสื่อม และโรคหัวใจ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ศิริราชได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุม โดยส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น ประเทศในยุโรป สแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จัดตั้งโครงการเพื่อค้นหานวัตกรรมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ในหัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล

ถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน ที่มีการจัดโครงการรวบรวมสุดยอดความคิดเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยงาน Hackathon นี้จะจัดขึ้นในช่วงปลายตุลาคม พ.ศ. 2567

การแข่งขัน Hackathon จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของศิริราชในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคมสูงวัยทั่วโลก

โครงการนี้จะเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย นักพัฒนา และผู้ที่สนใจ ได้ร่วมกันคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

ภาพรวมสถานการณ์ผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรและระบบสวัสดิการสังคมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย มีอัตราการเกิดลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างจำนวนผู้สูงอายุและประชากรวัยแรงงาน

ปัญหาที่น่ากังวลไม่ได้อยู่ที่เพียงจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเกิดลดลงมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับอดีต สถานการณ์นี้ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มขึ้นของภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ต้องมีการปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมเพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังต้องมีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร

การจัดงาน Hackathon ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยการนำผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลายสาขามาร่วมกันทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนางานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุจริงๆ

สังคมผู้สูงอายุที่ยั่งยืน: ความสำคัญของนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องใกล้ตัวคนที่จะเป็นกำลังสำคัญหลักในการเตรียมพร้อม และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ วิศวกร นักไอที หรือผู้ประกอบการสตาร์ทอัป เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยการนำเอาความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ปัญหาสุขภาพเร่งด่วนที่ต้องดูแล ฟื้นฟู รักษาผู้สูงอายุเร่งด่วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภาวะสมองเสื่อม โรคหัวใจ โดยเฉพาะปัญหาภาวะกระดูกบางและกระดูกหัก เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นอกจากปัญหาสุขภาพทางกายแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เช่น ความโดดเดี่ยว ความรู้สึกไม่มีคุณค่า ความเครียด และโรคซึมเศร้า ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมควรให้ความสนใจและสนับสนุน

โครงการ Hackathon จะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง

Prof. Zen Chu MIT-Harvard กล่าวว่า MIT ได้ดำเนินโครงการ Hackathon มาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ครอบคลุม 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแพทย์ วิศวกร และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นไปที่การดูแลรักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ

ศิริราช จับมือ MIT เฟ้นหานวัตกรรมดูแลผู้สูงวัย

MIT ได้นำความรู้ด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโซลูชันทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผ่านการจัดกิจกรรมกว่า 200 ครั้ง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานเองได้เพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น

นอกจากนี้ MIT ยังได้สนับสนุนสตาร์ทอัพด้านสุขภาพกว่า 100 ราย มูลค่ารวมกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท ความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยและสังคมไทยอย่างยั่งยืน

อยากเห็นนวัตกรรมอะไรสำหรับผู้สูงวัย 

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ไม่ใช่ไปหาอะไรที่แพงๆ ที่ลงทุนเยอะๆ หรือสิ้นเปลืองมากเกินไป ควรจะเป็นนวัตกรรมที่สามารถทำได้และสามารถแก้ปัญหาได้โดยจริง สำหรับทางการแพทย์ โดยเราต้องร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย

เพราะปัจจุบันโลกวิ่งร็วมาก อยากเห็นนวัตกรรมที่เกิดจากการรวมพลังกัน ของทุกวิชาชีพ ทุกระดับ ออกมาในรูปแบบนวัตกรรมที่สามารถจับต้องได้ ที่สามารถนำไปใช้ในวงกว้างได้ และสามารถใช้ในระดับที่ยั่งยืนได้ด้วย และนี่น่าจะเป็นจุดประสงค์ของคนจัดงานที่จะคอยเฝ้าดู 

ศิริราช จับมือ MIT เฟ้นหานวัตกรรมดูแลผู้สูงวัย

โดยศิริราชมีการจัด Hackathon มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการยกระดับในระดับสากลพร้อมกับทาง MIT โดยจัดในธีมผู้สูงอายุ เพราะเชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้น่าจะได้นวัตกรรมสูงวัยจำนวนมาก รวมถึงการเรียนรู้ กระบวนการ และวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตกจาก MIT ก่อเกิดเป็นโปรเจค นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องสังคมสูงวัย

งาน Hackathon MIT เปิดโอกาสให้บุคลากรจากหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และไอที รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ได้มาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เพียงมีความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาสังคม สำหรับไฮไลท์ของงาน ได้แก่

  • เปิดกว้าง: งานนี้เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทุกสาขาเข้าร่วม ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
  • ร่วมมือกัน: สร้างโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ทำงานร่วมกันข้ามสาขา สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ

ศิริราช จับมือ MIT เฟ้นหานวัตกรรมดูแลผู้สูงวัย

  • เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ: มีการจัดสัมมนาและการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • เน้นการปฏิบัติ: ผู้เข้าร่วมจะได้ลงมือทำโปรเจคจริง และนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ
  • ต้นทุนต่ำ: เน้นการสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง และมีต้นทุนที่ต่ำ

เหตุผลที่ไม่ควรพลาด เนื่องจาก ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไขอย่างทันท่วงที MIT มีศักยภาพ มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ

โดยงานนี้เป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และสร้างเครือข่ายกับผู้คนในวงการเดียวกัน อีกทั้งด้วยรูปแบบของงานที่เปิดกว้างและตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ทำให้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 5-10 เท่า