“ไฟเซอร์” ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ห่างไกลโควิด-19

23 เม.ย. 2567 | 22:51 น.

“ไฟเซอร์” เปิดแคมเปญ “โซนนี้อุ่นใจ ปลอดภัยจากโควิด-19”  สร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพในกลุ่ม 608 อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง

นายมาร์ค คาว (Mark Kuo) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไฟเซอร์(ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดแคมเปญ “โซนนี้อุ่นใจปลอดภัยจากโควิด-19” เนื่องด้วยในวันที่ 24 – 30 เมษายนของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของโลกหรือ World Immunization Week  โดยดึง “บอย – ปกรณ์” และครอบครัว มาร่วมเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้อง เนื่องด้วยบุคคลิกเหมาะสมกับการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ สามารถสะท้อนแนวคิดของการดูแลครอบครัวได้ มีสมาชิกในครอบครัวอย่างแม่ที่ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันก็มีพี่น้องด้วย

"คอนเซปท์ คือ ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัย ทุกคนมีส่วนสำคัญในการดูแลคนในครอบครัวด้วยการให้ความรู้  ปฎิบัติตัวในการป้องกันโรคร่วมกัน เพื่อให้ครอบครัวปลอดภัยสำหรับทุกคนรวมถึงสังคมในวงกว้าง"

วัตถุประสงค์ของแคมเปญนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของโควิด-19 แม้จะผ่านระยะเวลาของการระบาดใหญ่มาแล้ว แต่โรคนี้ยังคงอยู่ และสำหรับฟเซอร์ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จัดสรรวัคซีนให้ตรงตามความต้องการมาตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 จนสามารถแก้ปัญหาการระบาดในประเทศได้ และเมื่อผ่านวิกฤตการระบาดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการควบคุมโรค ก็ยังคงพูดคุยร่วมกันกับรัฐบาล อยู่ในขบวนการเพื่อทำความเข้าใจถึงความต้องการของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ของระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไป องค์ความรู้เหล่านี้สามารถเผยแพร่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่เป็นทุกคนที่ต้องการดูแลตัวเอง และคนที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะสามารถดูแลคนที่มีความเสี่ยงสูงได้

“ไฟเซอร์” ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ห่างไกลโควิด-19

นายแพทย์ ดร.นิรุตติ์ ประดับญาติ Medical Director บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไฟเซอร์ ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนและเรื่องโควิด-19 โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมไทยสุขภาพดีขึ้น ขณะที่ปัจจุบันโควิด-19 มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การวิจัยและพัฒนาของไฟเซอร์ก็ต้องตามให้ทันด้วยการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดอาการป่วยของผู้คนและลดอัตราการเสียชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็มั่นใจได้ว่าวัคซีนตัวล่าสุดของไฟเซอร์ที่มีอยู่ในตลาด สามารถป้องกันการติดเชื้อโรค โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนั้นได้ เพราะได้รับข้อมูลข่าวสารจากหลายหน่วยงานทั่วโลก จนนำมาพัฒนาปรับปรุงวัคซีนอยู่ตลอดเวลาและครอบคุม

"ตอนนี้วัคซีนรุ่นใหม่ของไฟเซอร์ ได้กระจายไปตามสถานพยาบาลแล้ว โดยที่ผ่านมาวัคซีน COVID-19 ทุกรุ่นของไฟเซอร์ ได้ส่งมอบให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วมากกว่า 3,500 ล้านโดส และมากกว่า 40 ล้านโดสในประเทศไทย และการฉีดจะอิงตามคำแนะนำของระบบสาธารณะสุขของแต่ละประเทศ โดยความวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนไม่ใช่เฉพาะวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ วัคซีนทุกชนิดย่อมมีผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์หลากหลาย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและโรคที่ผู้รับวัคซีนนั้นเป็นอยู่  ซึ่งบริษัทไฟเซอร์ก็ยังคงติดตามผลในประเด็นนี้ร่วมกับรัฐบาล เพราะอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ จะถูกระบุไว้ในเอกสารกำกับยา เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้รับวัคซีนและผู้ให้วัคซีนด้วย ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน มั่นใจได้ว่าประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น"

“ไฟเซอร์” ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ห่างไกลโควิด-19

ปัจจุบัน คนหลายกลุ่มยังมีโอกาสที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจาก โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 608 ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

“ไฟเซอร์” ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ห่างไกลโควิด-19

ด้าน ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และ อุปนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคโควิด-19 ยังคงจะอยู่ตลอดไปและเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง สถานการณ์ล่าสุดในช่วงสงกรานต์ปี 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,000 รายภายใน 1 สัปดาห์ มีภาวะปอดอักเสบ 200 ราย อีก 100 รายเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตเฉลี่ย 3-4 รายต่อสัปดาห์ ไม่นับรวมที่รักษาด้วยตัวเองอยู่ที่บ้านโดยการตรวจ ATK สถานการณ์ถือว่าไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งวัคซีนวามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

"อยากเน้นย้ำกลุ่ม 608 ถือว่ามีความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 สูง เพราะเมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่จะได้นอนโรงพยาบาล และอยากให้ได้รับวัคซีน แต่ต้องอยู่ในภาวะไม่เจ็บป่วยรุนแรงหรือเคยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน โดยได้รับการยืนยันจากแพทย์"