"สสส." ดัน "พื้นที่สุขภาวะ" สู่ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ

27 มี.ค. 2567 | 05:45 น.

"สสส." ดัน "พื้นที่สุขภาวะ" สู่ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ชี้หากมีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้ไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข 

นิรมล ราศี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า หากประเทศไทยมีพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ก็จะทำให้ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข 

ทั้งนี้ การใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงของผู้คนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา ก็เป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือด มะเร็ง และโรคไต ที่คนไทยกว่า 4 แสนคนกำลังเผชิญ

"พื้นที่สุขภาวะ คือพื้นที่รอบๆ ตัว ที่เอื้อให้ทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อมีสุขภาพที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เส้นทางสัญจร โรงเรียน หรือแม้แต่ที่ทำงาน"
 

นิรมล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้รณรงค์ ส่งเสริม ทำงานกับภาคีหลายภาคส่วน และให้ความรู้เรื่องพื้นที่สุขภาวะมากว่า 10 ปี ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง Mind set ของประชาชน 

"สสส." ดัน "พื้นที่สุขภาวะ" สู่ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ

จากเดิมที่จะมองว่าการออกกำลังกายจะต้องไปที่สวนขนาดใหญ่ หรือเข้ายิม แต่ปัจจุบันมีการปรับพื้นที่ใกล้ตัว ทั้งบริเวณบ้าน ในชุมชนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ในโรงเรียน ให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น 

"หน้าตึก Park Silom ถือเป็นพื้นที่สุขภาวะใจกลางเมือง ซึ่งมีพื้นที่โล่งกว้างหน้าอาคารสำนักงาน ที่เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ทั้งต้นไม้เขียวขจีที่ให้ร่มเงา สนามหญ้าให้ได้ทอดสายตามอง สระน้ำขนาดเล็กสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย พื้นที่นั่งใต้ร่มไม้ให้ได้ผ่อนคลาย และทางเดินให้ผู้คนได้ยืดเส้นยืดสาย ละลายความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน"
 

นายสุธี ลิมปนชัยพรกุล ประธานอำนวยการบริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด เจ้าของโครงการ Park Silom กล่าว่า ในแต่ละวันมีผู้คนผ่าน-เข้าออกอาคารและพื้นที่ลานหน้าตึกนับหมื่นคน ส่วนหนึ่งคือผู้คนที่อาศัยในละแวกสีลม โดยเท่าที่ทราบข้อมูลพบว่าการมีสวนขนาดเล็ก อย่างบริเวณหน้าตึกพาร์คสีลมนั้นตอบโจทย์มากกว่า เพราะใกล้บ้านและออกกำลังกายง่ายๆ ได้

รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะ Healthy Space Forum กล่าวว่า ลานกว้างหน้าอาคาร Park Silom เป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดสรรพื้นที่โดยใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม ให้พื้นที่นั้นมีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิต ให้คนทุกช่วงวัย ได้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน 

นอกจากช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และเกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม