THG จับมือ ABAC ผลิตแพทย์ ช่วยรัฐแก้ปัญหาหมอขาดแคลน

19 ม.ค. 2567 | 08:30 น.

THG จับมือม.อัสสัมชัญ จัดตั้ง “St. Luke School of Medicine” คณะแพทยศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ หวังช่วยรัฐผลิตแพทย์เติมเข้าระบบสาธารณสุขไทยที่กำลังขาดแคลน พร้อมรองรับขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เริ่มคิกออฟรุ่นแรก ปี 68 ก่อนขยายสู่พยาบาล เภสัชฯ เทคนิคการแพทย์

KEY

POINTS

  • THG ส่งเสริมการผลิตแพทย์ระดับนานาชาติ เพื่อช่วยภาครัฐปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และรองรับไทยก้าวสู่ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Service Hub) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) รวมทั้งการขยายการลงทุนของ THG ทั้งในไทยและอาเซียน
  • สถิติของแพทย์ไทย 1 คนโดยเฉลี่ยต้องดูแลผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ส่งผลให้แพทย์ต้องแบกรับภาระงานมากเกินไป
  • THG เดินหน้าสู่ “สมาร์ท ฮอสปิตอล” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษา การป้องกัน รวมถึงด้านการบริการ พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้นำตลาด Wellness และ Aesthetics 

นายแพทย์บุญ วนาสิน ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ THG ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแพทย์ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้รองรับกับการมุ่งสู่ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Service Hub) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)

รวมทั้งการขยายงานของ THG ทั้งในไทยและอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีการขยายการลงทุนด้านเฮลท์แอนด์เวลเนสในเมียนมา และเวียดนามแล้ว และจะขยายการลงทุนเพิ่ม รวมถึงในประเทศอื่นๆในอาเซียน ทั้งเวียดนามและสิงคโปร์ เป็นต้น

THG จับมือ ABAC ผลิตแพทย์ ช่วยรัฐแก้ปัญหาหมอขาดแคลน

“วันนี้แม้คุณภาพของแพทย์ไทยจะยังไม่ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ แต่แพทย์ไทยก็เก่งติดอันดับโลก และยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับด้านการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น”

สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ “St. Luke School of Medicine” จะมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากไทยและต่างประเทศมาเป็นผู้สอน และมีรูปแบบการเรียนการสอนที่ประยุกต์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้แบบรอบด้านจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นด้าน anatomy physiology (กายวิภาคศาสตร์) และ clinical medicine (วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านคลินิก, เวชศาสตร์คลีนิก) มารวมกันเพื่อทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ และนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนด้วย โดยตั้งเป้าเป็น international medical school หรือ โรงเรียนแพทย์ที่ทันสมัยสุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

“วันนี้การผลิตแพทย์ 1 คน ใช้ต้นทุนสูงมากเฉลี่ย 1.2 ล้านบาทต่อคน ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine ได้จัดเตรียมหลักสูตรเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดย THG ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่รวมทั้งจัดตั้งกองทุนคณะแพทยศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย ทั้งนี้เบื้องต้นจะเป็นการผลิตแพทย์ และอนาคตจะขยายไปยังกลุ่มพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ด้วย”

THG จับมือ ABAC ผลิตแพทย์ ช่วยรัฐแก้ปัญหาหมอขาดแคลน

ทั้งนี้ THG ถือเป็นผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมุ่งสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็น “สมาร์ท ฮอสปิตอล” ใช้เทคโนโลยีเทเลเฮลธ์ เดินหน้า 7 โครงการเพื่อเข้าสู่การเป็นผู้นำตลาด Wellness และ Aesthetics ด้วยงบกว่าหมื่นล้านบาทแล้วเสร็จภายในปี 2568

“จะเห็นได้ว่า THG ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพเท่านั้น แต่ทาง THG ยังให้ความใส่ใจเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ การร่วมมือในครั้งนี้เพียงหวังว่าจะช่วยภาครัฐผลิตแพทย์เติมเข้าระบบสาธารณสุขไทยที่กำลังเสี่ยงขาดแคลน เพื่อประชาชนและสังคมให้ดีต่อไปในอนาคตอันใกล้”

ปัจจุบัน THG ดำเนินธุรกิจรักษาพยาบาล รับบริหารจัดการโรงพยาบาลผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม รวมถึง ธุรกิจการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อการดูแล โดยมีโรงพยาบาลในประเทศไทย 10 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 แห่ง โรงพยาบาลส่วนภูมิภาค 5 แห่ง

และโรงพยาบาลในเมียนมา 1 แห่ง ได้แก่ Ar Yu International Hospital นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายพันธมิตร พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยในทุกภูมิภาคของทั่วประเทศอีกจำนวนมาก

ด้านนพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ในการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยภาครัฐผลิตแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันวงการสาธารณสุขของประเทศไทย มีแพทย์ที่บันทึกอยู่ในระบบราว 7 หมื่นราย

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

ขณะที่สถิติของแพทย์ไทย 1 คนโดยเฉลี่ยต้องดูแลผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ส่งผลให้แพทย์ต้องแบกรับภาระงานมากเกินไป หากปล่อยต่อไปจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะพื้นฐานของประชากรในระยะยาว ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดปัญหาสมองไหล แพทย์ลาออกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น THG และ ABAC ในฐานะภาคเอกชนจึงอยากร่วมสนับสนุนภาครัฐสร้างสถาบันผลิตบัณฑิตแพทย์ให้เข้าสู่ระบบเพื่อกระจายตัวออกไปรับใช้สังคมในพื้นที่ต่าง ๆ จึงนำมาสู่ความร่วมมือนี้ โดย THG รับผิดชอบในการจัดตั้งกองทุนคณะแพทยศาสตร์ ตามเกณฑ์การขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของแพทยสภา จัดหาโรงพยาบาลหลักสำหรับการเรียนการสอนระดับคลินิกและสถาบันพี่เลี้ยง

ตลอดจนการจัดจ้างผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร รวมถึงเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ ขณะที่ ABAC รับผิดชอบด้านการบริหารบุคลากรและสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยเตรียมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2568 จำนวน 60 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาสมัครและผ่านการพิจารณาครบจำนวนแล้ว โดยมีทั้งนักศึกษาชาวไทยและต่างชาติ อาทิ จีน เป็นต้น

ด้านภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า การร่วมมือกับ THG ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรอบรู้ รับผิดชอบ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะด้านการบริหารจัดการที่สอดคล้องมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานวิชาการและมาตรฐานสากล ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) และแพทยสภาทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะเน้นการเรียนการสอนเป็นรูปแบบนานาชาติทั้งหมด ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน เมียนมา และมาเลเซีย

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ

“จุดเด่นของหลักสูตรจะเป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการบริหารจัดการไม่เพียงเป็นหลักสูตรนานาชาติ หากยังผสมผสาน การปลูกฝังความรู้ ความสามารถในเชิงบริหารและความเป็นผู้นำอันเป็นจุดเด่นของทางมหาวิทยาลัยให้กับบัณฑิต ซึ่งจะส่งผลให้บัณฑิตแพทย์ที่ศึกษาจบหลักสูตรมีทักษะด้านคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบระดับสากล”