วิธีป้องกันตัวจาก "ยุงลาย" พาหะนำ 3 โรคร้าย

06 ม.ค. 2567 | 05:15 น.

กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกันตัวจากยุงลายกัด พาหะนำ "โรคไข้เลือดออก-โรคปวดข้อยุงลาย-โรคติดเชื้อไวรัสซิกา" หลังพบสถิติผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิต เพิ่มโดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกามีจำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 

เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยแต่พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอากาศเย็นมากนัก ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำ 3 โรคยังสามารถขยายพันธุ์ได้จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค ระบุว่า 3 โรคร้ายซึ่งประกอบด้วย โรคไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลาย และ โรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้น ในปีที่ผ่านมามีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

โรคไข้เลือดออก : พบผู้ป่วย 153,734 ราย เสียชีวิต 181 ราย 

โรคปวดข้อยุงลาย : พบผู้ป่วย 1,371 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต 

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา : พบผู้ป่วย 758 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 33 ราย 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติศีรษะเล็ก หรือพิการแต่กำเนิด เป็นภาระของครอบครัว ซึ่งโรคนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศแอฟริกาและเคยพบประปรายในประเทศไทยหลายปีก่อน ปีที่ผ่านมามีรายงานพบทารกศีรษะเล็กยืนยันติดเชื้อไวรัสซิกา 13 ราย  

ทั้งนี้ ในระยะ 4 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกามากที่สุด ในกรุงเทพมหานคร (40 ราย) ตามด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (13 ราย) อีกทั้งยังพบผู้ป่วยในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ที่กลับจากเกาะสมุยจำนวน 3 ราย

วิธีป้องกันยุงสำหรับประชาชน

การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการนอนในมุ้งหรือห้องที่ติดมุ้งลวด จุดยากันยุง หรือทาโลชั่นกันยุง และเก็บกวาดสถานที่ไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสำหรับผู้ประกอบการ

  • จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมีที่วางไข่ 
  • กำจัดภาชนะกักเก็บน้ำชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงขยะเศษภาชนะ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ หรือกาบใบไม้ใหญ่ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ 
  • แจกยาทากันยุงชนิดซอง หรือสเปรย์พ่นยุงในห้องพัก

อาการผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 

  • ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง 
  • มีอาการไข้ ร่วมกับผื่นแดงตามร่างกาย 
  • ตาแดง 
  • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ 
  • หากสงสัยให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

คำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรปฏิบัติตัวเพิ่ม 3 ประการ 

  • ทายากันยุงวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
  • งดเว้นการเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วนำเชื้อไวรัสไปให้คนรอบตัว และเนื่องจากพบว่า เชื้อไวรัสนี้สามารถอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ชายได้จึงควรใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 3 เดือนหากมีเพศสัมพันธ์ 

สำหรับโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก และกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ คือ หญิงตั้งครรภ์ และคู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422