“น้องแฮปปี้” หุ่นยนต์แมวอัจฉริยะ ผู้ช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

30 ต.ค. 2566 | 05:41 น.

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ จับมือ ทรู ดิจิทัล พัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยียกระดับบริการทางการแพทย์ ช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีน ครั้งแรกในไทย

โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)

โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือการที่เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์กลายเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นเนื้องอกร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวต่อมไทรอยด์ สาเหตุการเกิดโรคอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ด้านอาหารการกิน พันธุกรรม ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น หรือมีประวัติเคยสัมผัสกับรังสี รวมถึงอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อต่อมไทรอยด์ชนิดดี โดยวิธีการตรวจคัดกรองก็จะมีตั้งแต่การตรวจฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ การตรวจระดับไทร็อกซีน และการอัลตราซาวด์ไทรอยด์

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา เผยว่า การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีนมีมาประมาณ 80 กว่าปีแล้ว ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะต้นๆ สามารถหายขาดได้ โดยการรักษาจะเป็นการให้ผู้ป่วยรับประทานสารรังสีไอโอดีนเข้าไป เป็นการให้สารรังสีไอโอดีนที่บรรจุอยู่ในรูปแบบของแคปซูลเม็ดเล็กๆ โดยสารรังสีไอโอดีนก็จะทำหน้าที่ปล่อยรังสีกระจายเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งต่อมไทรอยด์ในร่างกาย 

 

รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ ผนึก ทรู ดิจิทัล เปิดตัว หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จับมือ ทรู ดิจิทัล ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ
รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายสนับสนุนบริการ เผย หลังได้พูดคุยกับ ผศ.พญ.คนึงนิจ เรื่องความเสี่ยงได้รับสารรังสีที่เกิดจากการดูแลผู้ป่วยของบุคลากร ประกอบกับคิดว่าจะทำอย่างไรให้บุคลากร พยาบาล ตลอดจนแม่บ้านทำความสะอาดห้องผู้ป่วย ได้รับความเสี่ยงจากสารรังสีน้อยที่สุด รวมถึงจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยไม่ขาดการรักษาที่ต่อเนื่อง จนได้รับแรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์รับ-ส่งอาหารตามร้านอาหารต่างๆ เลยได้มีการติดต่อคุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และเริ่มมาร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะออกมา

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ร่วมกับหุ่นยนต์ ได้รับรังสีลดลง 20 เท่า 
ในวันที่ 30 มกราคม 2566 นับเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการนำหุ่นยนต์รุ่นแรกๆ ไปทดลองใช้ แต่ยังไม่ทดลองกับผู้ป่วย เนื่องจากยังต้องมีการปรับอีกทีหนึ่ง และได้มีการลองใช้หุ่นยนต์ในการบริการคนไข้เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะไม่ได้ราบรื่นมาก และยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง แต่หลังจากที่ได้ทดลองทำ บุคลาการทางการแพทย์ไม่ต้องแบกกระปุกตะกั่วหนัก 5 กิโลกรัม ซึ่งหนักมาก ติดตัวก่อนนำรังสีไปให้คนไข้แล้ว รวมถึงหุ่นยนต์ยังสามารถทำหน้าที่รับ-ส่งอาหาร วัดความดัน หรือตรวจเช็กค่าต่างๆ ให้กับผู้ป่วยได้ โดยที่บุคลากรไม่ต้องรับความเสี่ยง 

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ หุ่นยนต์สามารถวัดค่ารังสีที่ตกค้างอยู่ภายในห้อง เพื่อเช็กว่าญาติผู้ป่วยสามารถเข้าเยี่ยมได้หรือไม่ แม่บ้านจะสามารถเข้ามาทำความสะอาดห้องผู้ป่วยได้หรือยัง ซึ่งทำให้เราได้รับตัวเลขการแพร่กระจายและการได้รับรังสีที่ลดลงไปกว่า 20 เท่า รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราดีใจ ไม่ใช่แค่เราสามารถดูแลคนไข้ได้ต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เราดีใจมากคือ เราไม่ลืมที่จะปกป้องบุคลากรของเรา ทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานมาด้วยกันให้ปลอดภัย เพราะในที่สุดแล้ว

โรงพยาบาลก็คือสถานที่ แต่บุคลากรทางการแพทย์คือผู้ที่ให้การรักษาคนไข้ ถ้าเราดูแลพวกเขาดี พวกเขาก็จะดูแลคนไข้ดี 

 

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

กว่าจะมาเป็น “น้องแฮปปี้” หุ่นยนต์อัจฉริยะ สนับสนุนการบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์
นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยมุมมองการเข้ามาของนวัตกรรมนี้ว่า มีการให้ทุกคนในทีมของทรูช่วยการสร้างเทคโนโลยี ทั้งรูปแบบการสนทนา รูปแบบการพูดคุย ซึ่งในการพูดคุยครั้งแรกไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีเลย แต่เรามาเพื่อที่จะเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ทำอะไรมากกว่า และตอบโจทย์อะไรได้บ้าง

ในครั้งแรกเราใช้หุ่นยนต์เพื่อส่งของ แต่พอได้มาฟังความต้องการกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราภูมิใจอย่างมาก เพราะมันตรงกับสิ่งที่ทรูพยายามทำให้มันเกิดขึ้นในเมืองไทย คือการใช้นวัตกรรมเพื่อให้มันตอบโจทย์จริงๆ ในหลากหลายภาคส่วนที่อยู่รอบๆ ระบบนิเวศน์

ไม่ใช่แค่ใช้นวัตกรรมกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อในภาคส่วนที่เราสามารถเติบโตในอนาคตได้  

สิ่งแรกหลังจากที่ได้พูดคุยกันคือ ทำอย่างไรถึงจะดีไซน์เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ และทำอย่างไรให้สามารถพัฒนายกระดับไปสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือต่อยอดได้ และทำอย่างไรให้มันไปสู่ต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยทีมงานและฝีมือของคนไทย ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบัน คุณค่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานแบบพาร์ทเนอร์กัน ทำให้สามารถต่อยอดและสร้างประโยชน์ และไม่ใช่การตอบโจทย์แค่เทคโนโลยี มันคือการใช้งานในอนาคตและในระยะยาวอีกด้วย

 

“น้องแฮปปี้” หุ่นยนต์อัจฉริยะ ช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีน ความท้าทายในการออกแบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ
"น้องแฮปปี้" เป็นการออกแบบโดยผสานความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Human-Tech Technology) ด้วยความเป็น Humanize ของเทคโนโลยี หุ่นยนต์จะมีดีไซน์หน้าจอและสีสันที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน มีเสียงที่น่าฟัง ช่วยสร้างสัมผัส และปฏิสัมพันธ์แบบคล้ายมนุษย์ รวมถึงมีการศึกษากระบวนการของการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง แล้วจะนำหุ่นยนต์เข้าไปทำงานร่วมผสานกับการรักษาได้อย่างไร 

นายสุริยา ก้อนคำ หัวหน้าทีมพัฒนาหุ่นยนต์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ความท้าทายของการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้คือ อุปกรณ์มีการทำงานฟังก์ชันแยกต่างกัน โดยความชำนาญของเราคือการนำมาควบรวมกัน ซึ่งต้องมีการนำทักษะการทำงานของเครื่องและการทำงานของคนให้สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน

ฟังก์ชันการทำงานของ “น้องแฮปปี้” หุ่นยนต์อัจฉริยะ

ฟังก์ชันการทำงานของ “น้องแฮปปี้” หุ่นยนต์อัจฉริยะ

ที่มาของชื่อ “น้องแฮปปี้” และที่มาของคอนเซปต์ “แมว” สีแดง
ผศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร เผย “น้องแฮปปี้” เป็นชื่อที่เกิดจากความรู้สึกมีความสุขกับการทำงานร่วมกับทรู ดิจิทัล น้องจะเป็นตัวแทนรักษาผู้ป่วยและเพิ่มความปลอดภัยจากรังสีให้แก่ทุกคน รวมถึงเพื่อมอบความสุขให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ 

คอนเซปต์ที่เป็น "แมว" เนื่องจากนิสัยของแมวมีความเป็นมิตร เวลาเข้าหาใครจะมีความอ่อนโยน เราอยากเข้าหาผู้คนด้วยความเป็นมิตรและความอ่อนโยน ในส่วนของสี ถ้าน้องแมวสีทองจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำโชคด้านเงินทอง แต่น้องแมวสีแดงจะนำโชคด้านสุขภาพมาให้ นั่นจึงเป็นที่มาของ “น้องแฮปปี้” เวอร์ชันล่าสุด 

 

ผลตอบรับหลังจากเริ่มใช้งานหุ่นยนต์อัจฉริยะ
อ.ปัญญา ภาสว่าง ผู้ชำนาญการพิเศษ นักรังสีการแพทย์ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า ผู้ใช้งานและบุคลากรทางการแพทย์ จะมี 3 หลักในการทำงานให้ปลอดภัย 

  1. อยู่ห่างจากรังสีให้มากที่สุด 
  2. ใช้เวลาให้เร็วที่สุด 
  3. มีบังเกอร์หรือสิ่งป้องกันไม่ให้สัมผัสสารรังสี

ทั้งนี้ เกิดจากความกังวลว่าจะได้รับสารรังสีเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากหากได้รับติดต่อกันจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคต จึงพยายามรักษาระดับรังสีให้มีอัตราน้อยที่สุด ซึ่งพอมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ทำให้บุคลากรสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และคลายกังวลได้มากขึ้น โดยได้มีการทดลองทำงานแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่มีหุ่นยนต์และไม่มีหุ่นยนต์ ผลปรากฏว่า ชั้นที่มีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย มีปริมาณรังสีน้อยลงคิดเป็น 1 ใน 20 

นอกจากนี้ จากการทำแบบสอบถามและแบบประเมิน ในส่วนของผู้ป่วยที่มีความกังวลว่ารังสีจากร่างกายจะแพร่กระจายไปยังผู้ที่มาเยี่ยม บุคลากร และผู้คนรอบข้าง พอมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยให้บริการรักษาและตรวจเช็กค่ารังสีให้ก็เกิดความสบายใจขึ้น

 

งานแถลงข่าวเปิดตัว หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน_รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ x ทรู ดิจิทัล

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ คาดไม่ใช่เรื่องยากที่จะซื้อ “น้องแฮปปี้” เพิ่ม
ปัจจุบัน มีน้องแฮปปี้ 1 ตัวที่สมบูรณ์ และมีอีก 1 ตัวเป็นแบคอัพสำรองเพื่อให้การรักษาต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการพัฒนาร่วมนับ 10 ตัว แต่ตัวที่ทางโรงพยาบาลใช้อยู่ เป็นตัวที่พัฒนาได้สมบูรณ์ตัวแรก ประกอบกับปีหน้าจะมีการเพิ่มเตียงผู้ป่วยจาก 5 เป็น 12 เตียง จึงอาจของบประมาณในการซื้อหุ่นยนต์มาใช้เพิ่ม ในส่วนของการของงบประมาณกับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ไม่ใช่เรื่องยาก

เพราะหุ่นยนต์มีการทำงานที่ดี ระยะเวลาในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากมีหุ่นยนต์อัจฉริยะก็ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเดินไปส่งยาและแบกสารตะกั่วที่หนักมากด้วยตัวเอง รวมถึงตัวเครื่องจะไม่มีสารรังสีแพร่กระจายออกมา เนื่องจากในตัวเครื่องใส่ตะกั่วป้องกันเอาไว้ และจะมีระบบการทำงานตรวจความเปรอะเปื้อนสารรังสีที่ตัวหุ่นยนต์หลังใช้งานอยู่แล้ว สามารถเช็กการติดค้างของสารรังสีไอโอดีนได้


ทั้งนี้ ผศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร ทิ้งท้ายว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ เปิดให้บริการรักษาโรคนี้มา 59 ปีแล้ว ซึ่งใน 1 ปี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งอันดับต้นๆ ของไทยอยู่ราว 5,000 - 6,000 คนต่อปี และอัตราผู้ป่วยในไทยก็ยังพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง