วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าแค่ป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก" 

25 ต.ค. 2566 | 07:30 น.

ทำความรู้จักกับวัคซีน HPV หลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศเดินหน้าฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็มใน 100 วันให้กับหญิงไทยอายุ 11-20 ปีทั้งในและนอกสถานศึกษา เริ่ม 8 พ.ย.นี้ มีประโยชน์มากกว่าแค่การป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก" คลิกเลย

ในวันนี้ (25 ตุลาคม 2566) กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเดินหน้ารณรงค์ฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็มใน 100 วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 11-20 ปีพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ 

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับวัคซีน HPV และประโยชน์ของการฉีดวัคซีน HPV ที่ไม่เพียงช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสของอีกหลายโรคด้วย

เชื้อไวรัส HPV คืออะไร

HPV หรือ Human papilloma virus เป็นเชื้อไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึง 70% 

ในขณะที่สายพันธุ์ 6 และ 11 คือ สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศสามารถพบได้มากถึง 90%

สำหรับเชื้อไวรัส HPV นั้น ไม่เพียงก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ยังสามารถทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ดังนี้

ผู้หญิง 

  • ก่อให้เกิด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ

ผู้ชาย 

  • ก่อให้เกิด มะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ

สัญญาณเตือนว่า ติดเชื้อไวรัส HPV 

  • มีหูดขึ้น (พบได้บ่อย) มีทั้งลักษณะที่เป็นตุ่มนูน ตุ่มเรียบแบน หรือตุ่มสีชมพู โดยอาจเกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือขาอ่อน
  • มีอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ
  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ปริมาณมากกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน (เนื่องจากก้อนมีขนาดโตมาก ซึ่งพบได้น้อย)

วัคซีน HPV 2 ชนิด แตกต่างกันอย่างไร

เพราะเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกและหูดที่อวัยวะเพศเป็นเชื้อ HPV คนละสายพันธุ์ ปัจจุบันจึงได้มีการแบ่งวัคซีน HPV ออกเป็น 2 ชนิด คือ 

  • Cervarix ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18
  • Gadasil ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 และป้องกันหูดที่อวัยวะเพศที่เกิดจาก สายพันธุ์ 6 และ 11

พฤติกรรมลดเสี่ยงติดเชื้อ HPV

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อโรค แม้ว่าการฉีดวัคซีน HPV จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่หากฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือในเด็กช่วงอายุ 9-26 ปี ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 90% ช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิง โรคหูดหงอนไก่ รวมทั้งมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้อีกด้วย

วัคซีนHPVป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

นอกจากป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว เพศหญิงยังป้องกันมะเร็งของอวัยวะอื่นได้อีก ได้แก่ 

  • มะเร็งปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด 
  • ทวารหนัก 
  • ช่องปากและคอหอย 

ผู้ชายวัคซีนสามารถป้องกัน 

  • มะเร็งองคชาติ 
  • ทวารหนัก 
  • ช่องปากและคอหอย 

วัคซีน HPV ฉีดอย่างไร

  • ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป 
  • ควรฉีดก่อนถึงวัยที่มีเพศสัมพันธ์ หรือก่อนติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการป้องกันสูงที่สุด 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน หากเป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ ฉีด 3 เข็มที่ 0, 1 และ 6 เดือน

วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

วัคซีนมีความปลอดภัยสูง ยังไม่พบว่า มีการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโดยตรง 
อาการข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยาซึ่งไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 2-3 วัน

อาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ ไข้ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งไม่รุนแรงและหายได้เอง 

ข้อมูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลเปาโล