รู้จัก “ฟลูอัลปราโซแลม” ยาเสียสาวตัวใหม่ ระบาดหนักภาคใต้ อันตรายถึงชีวิต

31 ส.ค. 2566 | 00:59 น.

ข่าวการตรวจพบสาร“ฟลูอัลปราโซแลม” ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ในยาเม็ดคล้ายยาเสียสาว ที่กำลังระบาดหนักทางภาคใต้ ทำให้เราต้องทำความรู้จักยาชนิดนี้กันให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางป้องกันตนเอง

 

ฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ชื่อนี้ต้องจำกันไว้ให้ดี เพราะมันเป็นยานอนหลับ กลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ชนิดใหม่ ที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อนในประเทศไทย จัดเป็น วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในประเภท 1 ที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ มีการนำมาใช้ในลักษณะที่คนไทยเรียกว่า “ยาเสียสาว” เพราะออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน งง สับสน จำอะไรไม่ได้

ลักษณะของยา “ฟลูอัลปราโซแลม” ที่พบ

จากการแถลงข่าวของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)วานนี้ (30 ส.ค.) ระบุว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้รับของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์ ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข 5 อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์ บนแผงยาพิมพ์คำว่า Erimin 5 (อีริมิน 5)

ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข 5 อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์

เมื่อตรวจวิเคราะห์พบตัวยา ฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับ กลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อนในประเทศไทย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1

ทั้งนี้ ยาเม็ดอีริมิน 5 โดยปกติมีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ชื่อ ไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) มีขนาดยา 5 มิลลิกรัม จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย แต่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด และพบระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ระยะหลังๆ พบการระบาดของยาอีริมินปลอมเพิ่มมากขึ้น โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ฯ ตัวอื่นเข้าไป เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย

อาการเมื่อใช้หรือเสพเข้าไป

ฟลูอัลปาโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่น ในกลุ่ม benzodiazepines โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และทำให้ง่วงนอน เนื่องจากฟลูอัลปราโซแลม ไม่มีการใช้เป็นยาในมนุษย์ จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกของตัวยา

จากโครงสร้างทางเคมี คาดว่า ฟลูอัลปราโซแลม ออกฤทธิ์ภายใน 10-30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นาน 6-14 ชั่วโมง

เนื่องจากไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้น การใช้หรือเสพตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และควบคุมการแพร่ระบาดของยาดังกล่าว

ข้อแนะนำ-แนวทางป้องกันตนเอง

จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางอีริมิน 5 ตั้งแต่ปี 2556 หรือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่พบฟลูอัลปราโซแลม ดังนั้น การตรวจพบครั้งนี้จึงเป็นการตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลมครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการตรวจพบตั้งแต่ปี 2564 โดยฟลูอัลปราโซแลม เป็นยากลุ่ม benzodiazepines ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอัลปราโซแลม (alprazolam) ที่คนไทยเรียกว่า “ยาเสียสาว” แตกต่างกันที่ฟลูอัลปราโซแลม มีอะตอมของฟลูออรีนอยู่ในโครงสร้าง

เนื่องจากฟลูอัลปราโซแลม มีฤทธิ์ทำให้หลับ และผ่อนคลาย ออกฤทธิ์ยาวนานกว่ายาเสียสาว คนที่โดนยาตัวนี้เข้าไป อาจจะไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้ามีอาการง่วงผิดปกติ งงๆ สับสนจำอะไรไม่ได้ หรือใจสั่นมาก ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

“ขอแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้อย่าไว้ใจใคร ให้ปฏิเสธหากมีใครที่ไม่รู้จัก นำเครื่องดื่มหรืออาหารมาให้กิน อย่างไรก็ดี ถ้าไม่ได้กินยาเกินขนาด หรือกินเป็นกรัมๆ อาจไม่ออกฤทธิ์ถึงแก่ชีวิต” นพ.ศุภกิจกล่าวเตือน พร้อมย้ำว่า หากมีการผสมตัวยานี้ในเครื่องดื่ม จะสังเกตยากมาก เพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงเป็นที่นิยมใช้ในหมู่มิจฉาชีพ ทั้งนี้ กรมวิทย์ตรวจเจอในพื้นที่ภาคใต้ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า ในภาคอื่นจะไม่มี จึงต้องระมัดระวังทั้งหมด