"ความหวาน" มีประโยชน์-โทษขึ้นอยู่กับปริมาณในการบริโภค

05 ก.ค. 2566 | 20:15 น.

กรมอนามัย เปิดข้อเท็จจริง "น้ำตาลธรรมชาติ-น้ำตาลเทียม" ต่างมีประโยชน์และส่งผลกระทบกับร่างกายได้หากบริโภคปริมาณมากเกินไป บอกเคล็ดลับบริโภคอย่างเหมาะสมต้องทำอย่างไร คลิกเลย

จากกรณีที่มีข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาล "แอสปาแตม (Aspartame)" เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแบบไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาล 0% เพื่อต้องการควบคุมน้ำหนักไม่ให้ได้รับพลังงานจากน้ำตาลเพิ่มแต่ก็ยังติดได้รสชาติหวานอยู่

ล่าสุด กรมอนามัย โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอธิบายไขข้อข้องใจเพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับ "ประโยชน์และโทษของการรับประทานน้ำตาล" ไว้ดังนี้ 

"น้ำตาล" จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน

1. น้ำตาลธรรมชาติ (Sugar)

ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับวัตถุดิบและกรรมวิธีที่ผลิตทั้งน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด น้ำตาลโตนด น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ และ น้ำเชื่อม เป็นต้น 

2. น้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners)

เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแต่งเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ มีทั้งแบบที่ให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน นิยมใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก โดยสารให้ความหวานที่นิยมใช้กัน ได้แก่

  • แอสพาร์เทม (Aspartame)
  • แซ็กคาริน (Saccharin)
  • แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium)
  • ซูคราโลส (Sucralose)  
  • นีโอแทม (Neotame) 

น้ำตาลมีประโยชน์หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม

น้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเทียม ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายได้

บริโภค "น้ำตาลธรรมชาติ" มากเกินไป

  • จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน
  • เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น

บริโภค "น้ำตาลเทียม" เป็นประจำ

  • ลิ้นจะคุ้นกับรสหวานที่มากเกินไป อาจจะทำให้ติดรสหวาน และไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก

สำหรับเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกินอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว

คำแนะนำ

American Diabetes Association (ADA) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวานโดยไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือจำกัดการใช้

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยพบว่า แม้สารให้ความหวานจะมีแคลอรีต่ำ แต่ส่งผลให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้เพราะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเซลล์ไขมันมากขึ้น ดังนั้น หากร่างกายต้องการความหวาน ควรกินน้ำตาลแต่พอดี คือ ไม่ควรกินเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน 

  • เด็ก ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 4 ช้อนชา 
  • ผู้ใหญ่ ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา 

ควรจำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อย่างแอสปาร์แทม ซูคราโลส อะเซซัลเฟมเค และแซลคาริน โดยเลือกกินน้ำตาลจากธรรมชาติหรือน้ำตาลจากผลไม้สดเพราะมีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และไฟโตนิวเทรียนท์

ทั้งนี้ แม้ว่าน้ำตาลในผลไม้จะมีคุณค่าต่อร่างกายแต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากเกินไป ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีและเลือกผลไม้หวานน้อย เช่น

  • กล้วย
  • แอปเปิล
  • ส้ม
  • ฝรั่ง
  • สาลี่
  • แตงโม
  • สตรอว์เบอร์รี