โรคเกลียดเสียง Misophonia ทำไมแค่เสียงเคี้ยวข้าวก็ทนไม่ได้

08 มิ.ย. 2566 | 17:55 น.

โรคเกลียดเสียง Misophonia คือภาวะอะไร ทำไมแค่เสียงเล็กๆ น้อย อย่างการเคี้ยวข้าวของคนอื่นก็ทำเราทนฟังไม่ได้

ถ้าคุณรู้สึกโกรธหรืออารมณ์เสียเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินเสียงบางอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเข็มของนาฬิกา เสียงเดิน เสียงคีย์บอร์ด เสียงกดปากกา เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงลมหายใจของใครบางคน และเสียงที่มาจากอิริยาบถต่างๆ ที่มีความดังเล็กๆ น้อยๆ แต่คุณทนไม่ได้เพราะรู้สึกว่ามันรบกวนอย่างมาก อาการนี้มีชื่อเรียกว่า โรคเกลียดเสียง (Misophonia)

มีโซโฟเนีย (Misophonia) หรืออาการเกลียดเสียง

เป็นความผิดปกติที่มีความไวต่อเสียงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่น เสียงเหล่านี้กระตุ้นการตอบสนองที่เรียกว่า การตอบสนองโดยการเผชิญหน้าหรือหลบหนี (fight-or-flight) ทำให้ผู้ที่มีอาการเกิดความรู้สึกด้านลบ มีอารมณ์ขุ่นเคือง รู้สึกหงุดหงิด จนถึงการแสดงอารมณ์โกรธเกรี้ยว หรืออยากหลีกหนีไปให้ไกลจากต้นเหตุของเสียง

การศึกษาเกี่ยวกับภาวะมีโซโฟเนียยังคงมีจำกัด และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นความผิดปกติทางคลินิก

ทางการแพทย์ในต่างประเทศ ระบุว่า สมองส่วนอินซูลาที่ทำหน้าที่ในการประมวลอารมณ์และควบคุมต่อการมีปฏิกิริยากับสิ่งเร้า โดยเฉพาะในส่วนของความทรงจำ ความกลัว อารมณ์ต่างๆ 

อาการของผู้ที่เป็นโรคเกลียดเสียง

ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อเสียงที่แตกต่างกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ได้แก่ 

  • ไม่สบายใจ 
  • วิตกกังวล
  • ขยะแขยง
  • ตื่นตระหนก
  • หวาดกลัว
  • โกรธ เกลียด และหงุดหงิด 
  • อยากหนีจากสถานการณ์นั้น

โรคเกลียดเสียง รักษาอย่างไร?

ในสหรัฐอเมริกาบำบัดผู้ที่มีอาการโดยจิตแพทย์ ด้วยการให้ผู้ป่วยระบายความอึดอัดในใจ และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงการกำเนิดของเสียง เเละค่อยๆ ฝึกให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ร่วมกับเสียงกระตุ้นได้โดยไม่รู้สึกรำคาญ หรือผสมผสานการบำบัดด้วยเสียง หากอาการที่ยังไม่รุนแรง อาจลองเริ่มจากการหลีกเลี่ยงเสียงกระตุ้นเหล่านั้น โดยการใส่หูฟัง หรือใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่สร้างเสียงในหูที่คล้ายกับเสียงน้ำตก หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น 

เว็บไซต์ pobpad ระบุว่า โดยพบว่าผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) โรควิตกกังวล กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) กลุ่มอาการผิดปกติด้านการกิน โรคสมาธิสั้น และอาการหูอื้อ (Tinnitus)  มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเกลียดเสียงมากกว่าคนอื่น 

ข้อมูลอ้างอิง : newscientist , webmd