โควิดXBB.1.16 แนวโน้มระบาดมากขึ้น สธ. ชี้กระจุกตัว กทม. ปริมณฑล

29 พ.ค. 2566 | 05:39 น.

โควิดXBB.1.16 แนวโน้มระบาดมากขึ้น สธ. ชี้กระจุกตัว กทม. ปริมณฑล เผยความสามารถในการแพร่ระบาดไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความรุนแรงไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและจับตา คือ XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความรุนแรงไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม 

แม้มีข่าวว่าโรงพยาบาลบางแห่งบอกว่า ER โควิดเต็ม เตียงโควิดเต็ม อาจเป็นบาง รพ.ที่เต็ม เพราะลดระดับเตียงโควิดลง แต่ภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. เตียงที่สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด อัตราใช้เตียงอยู่ที่ 22% ย้ำว่าเตียง บุคลากร ยามีความพร้อม 

อีกประเด็น คือ การติดเชื้อมีบางสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น เรือนจำ เพราะมีคนอยู่แออัด และมีการเข้าออกสม่ำเสมอ แม้จะมีมาตรการกักตัว ก็ขอให้คงมาตการไว้ และจะประสานกับทางเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ในการฉีดวัคซีนผู้ต้องขังผู้ต้องกักในเรือนจำต่างๆ

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การระบาดในเขต กทม.และปริมณฑลนั้นมากกว่าเขตอื่นของประเทศไทย แม้ตัวเลขห่างไกลจากการระบาดมากๆ ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ ผู้ป่วยอาการหนัก ขอให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ทุกจังหวัด 

โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บูรณาการใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งเราไม่มี รพ.ของสำนักงานปลัด สธ. และ กทม.มี รพ.หลากหลายรวมทั้งเอกชน จึงเป็นหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ต้องช่วยดูแลจุดนี้

โควิดXBB.1.16 แนวโน้มระบาดมากขึ้น  

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อเดือน ต.ค.2565 และเมื่อเดือน มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติกรณีโควิด-19 แต่ไม่ได้แปลว่าโควิดหมดไป เพียงแต่โรคลดความรุนแรงและการแพร่ระบาดก็ไม่รุนแรงระดับโลก

ซึ่งไทยเรามีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เตรียมเวชภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์ เปิดภาคเรียนของนักเรียนและเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 42 ราย ซึ่งลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่พบ 60 กว่าราย จึงเป็นแนวโน้มว่าอัตราลดลง โดยปัจจัยเสี่ยงยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์

กรมควบคุมโรค วิเคราะห์โดยทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เวลาป่วยโควิดก็มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อยกว่าถึง 2 เท่า ส่วนคนที่อายุมากกว่า 70 ปี ก็เพิ่มโอกาสไปถึง 4 เท่า ที่สำคัญคือ เกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนโควิดตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค 

บางคนไม่ได้ฉีดเลยซักเข็ม เพราะกลัวผลข้างเคียง จึงยืนยันว่า วัคซีนมีประโยชน์ แต่หลายครั้งพบว่าคนที่กลัว กลับเป็นลูกหลาน เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะไข้ขึ้น ไม่รู้จะพาไปหาหมอยังไง จึงขอย้ำว่าฉีดวัคซีนดีกว่า เพราะเวลาป่วยมาแล้ว กลุ่ม 608 มีโอกาสเสียชีวิตสูง

นอกจากนี้ คนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตพบว่า มักติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ออกไปไหน แต่ลูกหลานที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการก็เอามาติด ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดเลยสักเข็ม 

ส่วนผู้ที่มีผู้สูงอายุในบ้าน หากตนเองมีอาการทางเดินหายใจไม่ควรเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอาย หรือใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงผู้สูงอายุได้