ญี่ปุ่นประกาศลดระดับความอันตรายโควิด-19 ลงเท่าไข้หวัดใหญ่

09 พ.ค. 2566 | 01:53 น.

ญี่ปุ่นประกาศลดระดับความอันตรายของโควิด-19 ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉิน

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รายงานสถานการณ์สำคัญเกี่ยวกับหารแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ทั่วโลก ล่าสุด มีการอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวเจแปนไทม์ รายงานเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่น ประกาศลดระดับความอันตรายของโควิด-19 ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่  8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป 

โดยจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบทางการแพทย์ลงเป็นวงกว้าง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดในการรับมือกับโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ครั้งนี้ จะมีผลให้ชาวญี่ปุ่นจะถูกเรียกเก็บเงินสำหรับการดูแลผู้ป่วยนอกที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยจะได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลธรรมดาแทนที่จะเป็นสถานบริการที่กำหนด ด้วยการจัดประเภท โควิด-19 ใหม่ในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินอีกต่อไป

จีนยังเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

ขณะที่ประเทศจีนเองนั้น ที่ผ่านมา สาธารณสุขจีนยังคงเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงหาแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อ เนื่องจากการสิ้นสุดสถานะการแจ้งเตือนไม่ได้หมายความว่า โควิด-19 จะหายไป เพียงแต่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้โควิด-19 ไม่มีสถานะเป็นสภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกต่อไป แต่ องค์การอนามัยโลก เตือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ได้ยุติลง ซึ่งยังคงมีผู้เสียชีวิตสัปดาห์ละหลายพันคนทั่วโลก และได้ระบุถึงอัตราผู้ติดเชื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางที่พุ่งสูงขึ้นกว่าปกติในห้วงที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการทั่วโลกประมาณ 7 ล้านคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคนเป็นอย่างน้อยด้วย

ไทยยังพบติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 242 ราย

สำหรับประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ภายในประเทศ รายสัปดาห์ ช่วง 30 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ที่รักษาในโรงพยาบาล 1,699 คน (เฉลี่ยวันละ 242 ราย) ผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่ต้นปี 2566 รวม 10,081 คน จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 10 คน ผู้เสียชีวิตสะสม ตั้งแต่ต้นปี 2566 รวม 298 คน

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยประชาชนต่อกรณีโควิด-19 ที่แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น นายกฯ ยังแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังการปฏิบัติตัวและรับวัคซีนป้องกันเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก