กรมควบคุมโรค เตือนป่วย "มาลาเรีย-ไข้เลือดออก" เพิ่มขึ้นปีนี้

06 พ.ค. 2566 | 13:05 น.

กรมควบคุมโรค เผยปี 2566 แนวโน้มผู้ป่วยโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 กว่า 90% พบจังหวัดชายแดน เตือนหน้าฝนต้องระวัง "ไข้เลือดออก" พบได้ในชุมชนเมือง 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า คาดการณ์แนวโน้มว่า โรคติดต่อนำโดยแมลงปีนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้ระบาดติดต่อกันมา 3 ปีในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 โดยในส่วนของโรคมาลาเรียขณะนี้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 3-4 เท่า เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

ปัจจัยเนื่องจากผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาในรพ.ฝั่งไทย เมื่อถูกวินิจฉัยเป็นมาลาเรีย ต้องนับเป็นผู้ป่วยในประเทศไทยและสามารถแบ่งได้ว่าผู้ป่วยรายใดเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เช่น ถ้าอยู่ไม่เกิน 6 เดือนนับเป็นผู้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือต่างชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยเกิน 6 เดือนเมื่อถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ก็ทำให้ติดเชื้อเพิ่มเช่นกัน

 

"ผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้จำนวนมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย เมื่อผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้มีจำนวนมากก็อาจจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไทยเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงต้องรีบรักษาหมดทุกคน หลักการ คือ เฝ้าระวังในผู้ที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย กินไม่ได้ ที่สงสัยมาลาเรียให้รับตรวจวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจมาลาเรีย คล้ายกับชุดตรวจโควิด-19 เมื่อตรวจเจอก็รีบให้ยารักษา ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วอาการจะดีขึ้นเร็ว และไม่แพร่เชื้อต่อ" นพ.โสภณ กล่าวและว่า

โรคมาลาเรียมากับการเดินทางช่วงโควิดปี 2563-2564 ที่ห้ามเดินทางเข้าออกประเทศและมีมาตรการที่ดีในฝั่งไทย มาลาเรียก็ลดลง

ส่วนปัจจุบันแม้มีมาตรการที่ดีแต่ต่างชาติเดินทางเข้ามาก็ทำให้ผู้ป่วยในไทยเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายแดนโดยผู้ป่วยมากกว่า 90 % อยู่จังหวัดชายแดน คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ที่เหลือไม่มากก็อยู่ถัดลงมา จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ดื้อต่อยารักษา เพียงแต่อาจมีเรื่องการเข้าไม่ถึงการรักษา ทำให้มีระยะแพร่เชื้ออยู่นาน เพราะปกติถ้ากินยาเร็ว เชื้อหมด ก็ไม่แพร่เชื้อ เมื่อเขาเข้ามาพึ่งประเทศไทย ทางด้านมนุษยธรรมก็ต้องให้การดูแลรักษา

สำคัญ คือ การป้องกันอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ซึ่งมันเป็นเรื่องยากเพราะยุงนี้อยู่ในป่าแต่ในพื้นที่มีการกำจัดยุงด้นปล่องด้วยการพ่นสารเคมี เพื่อฆ่ายุง และแจกมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามากัดตอนกลางคืน เมื่อออกไปในป่าจะต้องสวมเสื้อผ้ามิดชิดแขนยาวกางเกงขายาว ระมัดระวังการถูกยุงกัด ส่วนวัคซีนยังอยู่ระหว่างการวิจัย

คนไทยที่เดินทางไปพื้นที่ชายแดนที่อาจจะการระบาดของมาลาเรีย หากกลับมาแล้วป้วยมีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ กินไม่ได้ บางรายอาจจะมีอาการทางสมอง

หากมีอาการเข้าได้กับโรคมาลาเรีย จะต้องบอกแพทย์ว่ามีประวัติไปในพื้นที่มีโรคมาลาเรียมา เช่น บอกชื่อจังหวัด บอกพื้นที่ที่ไปมา แพทย์จะได้นึกถึงมาลาเรียอีกโรคหนึ่งจะได้มีการตรวจเลือดตรวจวินิจฉัยได้เมื่อเจอก็รีบรักษาแต่หากไปพื้นที่บนดอยที่ไม่ได้มีมาลาเรียระบาดก็ค่อนข้างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดและติดตามข้อมูลเสมอ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนได้ 

สำหรับโรคไข้เลือดออกปีนี้ก็เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลงอีกโรคที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นซึ่งในช่วงม.ค.-เม.ย.2566 เป็นช่วงหน้าแล้ง ยังมีผู้ป่วยกว่า 10,000 คน เมื่อเข้าสู่หน้าฝนตัวเลขจะมากขึ้นกว่านี้แน่นอน เสียชีวิต 13 คน โดยในจำนวนที่เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่เกิน 50 % ซึ่งไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นโรคในเด็ก ที่จะมีการติดเชื้อมาก

ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มากแต่บางคนก็อาการรุนแรงเสียชีวิตได้ แต่ปัจจุบันมีการป้องกันตัวดี จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่จึงมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 จะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก และผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน อาจจะมีอาการรุนแรง รวมถึงคนไม่นึกว่าจะเป็นไข้เลือดออกด้วย อย่างเช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี หรือชุมชนเมือง ที่มีไข้เลือดออกอยู่แล้ว

"เมื่อมีอาการไข้ ปวดศรีษะ ปวดกระบอกตา บางคนอาจจะมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันหรือเลือดออกบริเวณอื่น หรือผู้หญิงมีเลือดประจำเดือนออกนานกว่าปกติ ไม่ได้คิดว่าเป็นไข้เลือดออก คิดว่าเป็นไข้ทับระดู ทำให้ไปเข้ารับการรักษาช้า เมื่อรักษาช้าเป็นอันตราย เพราะเข้าสู่ระยะช็อกหรือเสียเลือดมาก จึงทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเด็ก แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจริงจะมากกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากมีการรณรงค์เรื่องไข้เลือดออกเร็ว โดยที่ยังไม่เข้าหน้าฝนช่วงที่มีผู้ป่วยมาก จะช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งโดยเฉลี่ยในปีก่อนๆมีจำนวนผู้ป่วยราว 40,000-50,000 ราย" นพ.โสภณกล่าว