พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์XBB.1.16ในไทย 27 รายยันไม่แรงเท่าเดลต้า

18 เม.ย. 2566 | 05:41 น.

พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์XBB.1.16ในไทย 27 รายยันไม่แรงเท่าเดลต้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยข้อมูลจากอินเดียพบอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ส่วนอาการเยื่อบุตาอักเสบ มักพบในเด็ก

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8-14 เม.ย. พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ราย โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคมพบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 ราย รวมเป็น 27 ราย 

ทั้งนี้ มีทั้งผู้ที่ติดเชื้อจากในประเทศและต่างประเทศ โดยมี 1 คน เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาวต่างชาติ อายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งอาจจะมีเรื่องของโรคประจำตัวร่วมด้วย  

ส่วนการพบสายพันธุ์ XBB.1.9.1  มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ขณะที่สายพันธุ์เดิมเริ่มมีจำนวนลดลง

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าโควิดสายพันธุ์ "XBB.1.16"  สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยชุดตรวจ RT-PCR และชุดตรวจ ATK โดยสามารถตรวจคัดกรองได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ทั้งโอมิครอนและลูกผสม 

แต่บางกรณีที่ตรวจ ATK ไม่พบ ก็อาจจเกิดจากผลตรวจลวง หรือ ชุดตรวจ ATK มีปัญหา เป็นต้น 

พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์XBB.1.16ในไทย 27 ราย

"กระแสข่าวที่ว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 จะไม่มีอาการไข้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจากรายงานของประเทศอินเดีย พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ส่วนอาการเยื่อบุตาอักเสบ มักพบในเด็ก และอาการของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้า"

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การแพร่กระจาย พบว่ามีสัญญาณบางอย่างว่า อาจจะแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ยังต้องมีการตรวจพิสูจน์และเฝ้าสังเกตการณ์อีกระยะ ส่วนการหลบภูมิคุ้มกันนั้น มีต่างกับสายพันธุ์เดิมและไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเก็บตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากทั่วประเทศมาตรวจสายพันธุ์เพิ่ม ทั้งผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต  เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป  

ด้านมาตรการป้องกันส่วนบุคคลก็เหมือนเดิม คือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ซึ่งสามารถฉีดได้ทุกยี่ห้อทุกรุ่น เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อและรับเชื้อจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

กรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและมีการทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ  

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทั่วโลกและในประเทศไทย สายพันธุ์หลักที่ระบาด  ยังเป็นสายพันธุ์  XBB.1.5 ตรวจพบใน 95 ประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย XBB.1.16 พบแล้ว 29 ประเทศ  ส่วน XBB.1.9.1 พบใน 61 ประเทศ

"สายพันธุ์ XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น แต่คุณสมบัติด้านการหลบภูมิคุ้มกัน  ยังคงเหมือนกับสายพันธุ์ XBB และ XBB.1.15  โดยสายพันธุ์ XBB.1.16 มีรายงานพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา"

โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ XBB.1.15 กับ XBB.1.16 พบว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 มีตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามต่างกัน ซึ่งเป็นลูกผสมของสายพันธุ์ BA.2.10.1 และBA.2.75 ซึ่งความสามารถในการแพร่กระจายอาจจะแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.15 เล็กน้อย แต่ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค เช่น อาการที่หนักขึ้นจนถึงเสียชีวิต 

อาการหลักที่พบ คือ จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ  มีไข้ ไอ เจ็บคอ และมีข้อสังเกต คือ พบผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ  คันตา  ขี้ตาเหนียว  ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นร่วมด้วย ซึ่งในประเทศอินเดีย อาการนี้มักพบในเด็ก  นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดเชื้อสายพันธุ์นี้ซ้ำได้