ทำความรู้จัก"สเตียรอยด์"มีประโยชน์-โทษยังไง อันตรายแค่ไหนเช็คที่นี่

18 เม.ย. 2566 | 02:58 น.

ทำความรู้จัก"สเตียรอยด์"มีประโยชน์-โทษยังไง อันตรายแค่ไหนเช็คที่นี่ หมอธีระวัฒน์ชี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีถึงผลข้างเคียงก่อนใช้ แนะช่วยกันสอดส่อง ห้ามปรามการใช้ยาผีบอก สมุนไพรที่อาจมีสเตียรอยด์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความระบุถึง การต้องทำความรู้จักกับสเตียรอยด์ให้ดี เพราะอาจทำให้ช็อกถึงตายได้

หมอธีระวัฒน์ อธิบายว่า “สเตียรอยด์” เป็นฮอร์โมนธรรมชาติของมนุษย์ สั่งงานจากสมองส่วนกลางลงมายังต่อมใต้สมอง ควบคุมต่อมหมวกไตให้ผลิตในปริมาณพอเหมาะ ควบคุมความสมดุลของร่างกาย เมื่อมีภาวะเครียดทางกาย ใจ

ยกตัวอย่างเช่นมีภาวะวิกฤติฉุกเฉิน มีการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างสเตียรอยด์ในปริมาณที่สูงขึ้นหลายเท่าเพื่อพยุงชีวิต และจำกัดการอักเสบให้ไม่รุนแรงเกินไป จะคอยควบคุมให้ร่างกายทนทาน คงความดันโลหิต คุมการอักเสบอยู่จนกระทั่งมีการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อโรค

จนเมื่อกลับเข้าเป็นภาวะปกติ ฮอร์โมนสเตียรอยด์ก็จะกลับเข้าที่เดิม และยังคุมปรับความสมดุลของร่างกาย ทั้งระดับภูมิคุ้มกัน และปรับระดับเกลือแร่ร่วมกับการทำงานของไต

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า การที่เอาสเตียรอยด์มาใช้กิน ฉีดเป็นยาบรรเทาอาการทำให้อาการปวดเจ็บที่เกิดจากการอักเสบ เช่น ปวดข้อเข่า ปวดเมื่อย หายเป็นปลิดทิ้ง

จากการที่สเตียรอยด์สามารถลดอาการอักเสบ ปวด ลดไข้ได้ ทำให้มีการนำมาใช้กันผิดๆ อย่างแพร่หลายเพื่อให้หายเร็วทันใจ ไม่ว่าปวดเข่า ปวดข้อ ปวดเมื่อย ทั้งที่ใช้เดี่ยวๆ หรือไปผสมกับยาแก้ปวดอื่นๆ เป็นยาชุด เช่น NSAID (เอนเสด ยกตัวอย่าง ยา voltaren brufen) เป็นต้น ทำให้มีผลข้างเคียงมหาศาล กระเพาะตกเลือด กระเพาะทะลุ เป็นโรคไตวาย

สำหรับในทางการแพทย์แล้วนั้น หมอธีระวัฒน์ บอกว่า "สเตียรอยด์" เป็นยาช่วยชีวิต มีประโยชน์ในการรักษาควบคุมโรค การอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้และแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคพุ่มพวง หรือโรค SLE ที่ระบบภูมิคุ้มกันวิปริต 

แทนที่จะไปสู้กับเชื้อโรคกลับทำลายร่างกายตนเอง หัวจดเท้า ผมร่วง ผื่นขึ้น หัวใจ ปอด ตับ ไต อักเสบ ข้อบวม และยังใช้ในอีกหลายโรคที่มีการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

อย่างไรก็ดี การใช้ต้องอยู่ในการควบคุมอย่างระมัดระวังทั้งขนาด วิธีใช้ ระยะเวลา รวมทั้งต้องทราบผลข้างเคียงแทรกซ้อน อาจระคายกระเพาะ หน้าอ้วนอูม คอเป็นหนอก สิว นอนไม่หลับ 

นอกจากนี้ ต้องชั่งประโยชน์และโทษ คือต้องมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งเมื่อค่อยๆ หยุดยาลงทีละน้อย ผลข้างเคียงเหล่านี้ก็จะค่อยๆสงบลง

ปัญหาสำคัญอยู่ที่การใช้สเตียรอยด์ในเวลานานๆเป็นหลายสัปดาห์ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ระบบอัตโนมัติจากสมองส่งผ่านมาต่อมหมวกปรวนแปร ต่อมหมวกไตขี้เกียจ ร่างกายจะใช้แค่สเตียรอยด์ที่ได้จากการกินจากภายนอกเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อหยุดกะทันหันจะเกิดอันตราย ความดันโลหิตตกจนอาจถึงช็อก หรือเมื่อมีภาวะฉุกเฉิน เช่น ติดเชื้อ เครียดทางกาย ซึ่งขณะนี้ร่างกายต้องการระดับสเตียรอยด์สูงขึ้นอีกหลายเท่าจากปกติ เพื่อให้คงชีวิตอยู่ได้ กลับไม่เป็นดังที่ควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น คนไข้ที่ได้รับสเตียรอยด์อยู่แล้วจากแพทย์ในการรักษาโรค เมื่อเกิดเหตุวิกฤติฉุกเฉิน แพทย์จะทำการปรับระดับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า ที่เป็นวิกฤติระดับชาติ ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านเราขณะนี้ และเป็นมาเนิ่นนานหลายสิบปี จนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การที่เอาสเตียรอยด์จะด้วยจงใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ปนใส่ในยาชุดแก้ไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ หรือในรูปแบบของอาหารเสริม สมุนไพร ซึ่งแท้จริงมีฤทธิ์เป็นสเตียรอยด์ ทั้งนี้จะเห็นผลมหัศจรรย์ทันที หายป่วย หายเมื่อย หายไข้ แต่ถ้าไข้นั้นเกิดจากโรคติดเชื้อ อาการจะดีขึ้นพักเดียว และเชื้อโรคจะแพร่จำนวนลุกลามเข้าอวัยวะ เข้ากระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการใช้ระยะยาวเป็นสัปดาห์หรือเดือนอย่างต่อเนื่อง จะกดการทำงานตามธรรมชาติที่ให้มีระดับสูงต่ำตามภาวะความจำเป็น เมื่อเกิดมีภาวะฉุกเฉินเช่นโรคหัวใจ โรคติดเชื้อนิดๆหน่อยๆที่แม้ไม่รุนแรงนัก จะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำจน ถึงช็อก (adrenal crisis)

แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีประกาศอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพวกหมอเราเองจะตระหนักในภาวะนี้แล้วก็ตาม แต่ในโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลเดียวใน 2 ปี (2013-2014) มีผู้ป่วยช็อกจากสาเหตุนี้ซึ่งพิสูจน์ยืนยันแล้วมากกว่า 80 ราย (วารสาร Tropical Doctor) 

และอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะถ้าโรคติดเชื้อมีความร้ายกาจอยู่แล้ว อาการช็อกจากภาวะสเตียรอยด์มีไม่พอ บวกกับช็อกจากติดเชื้อจะทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก จากที่หมอคุยกับรุ่นน้องๆในอีกจังหวัดหนึ่งทางอีสานในเดือนกันยายนปีนี้ ก็เจอสภาพเช่นนี้เหมือนกัน

หมอธีระวัฒน์ได้ยกผลจากการสำรวจในโครงการแกนนำนักวิจัยอาชีพของเรา ซึ่งตนเองเป็นหัวหน้าโครงการ ใช้ทุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่า ผู้ป่วยช็อกเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าบวม อ้วน น้ำตาลต่ำในเลือด เกลือแร่แปรปรวน หรือมีเม็ดเลือดขาวบางชนิด (eosinophil) ขึ้น ดังที่ปรากฏเหมือนในตำรา อาจเป็นเพราะได้สารสเตียรอยด์จำนวนพอประมาณติดต่อกันเนิ่นนาน แต่แน่นอนทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน และ ไม่ยอม “ช่วยชีวิต” เราในภาวะวิกฤติ

หมอธีระวัฒน์ ยังได้เห็นความเห็นพร้อมขอร้องขอร้องให้พวกเราบุคลากรสาธารณสุขช่วยกันสอดส่อง และห้ามปรามการใช้ “ยาผีบอก” หรือ “สมุนไพร” ที่อาจมีสเตียรอยด์ปนเปื้อนเหล่านี้ และตระหนักว่าภาวะช็อกอาจเกิดจากการได้ยาผีบอก ยาชุด ที่กดการทำงานของต่อมหมวกไต จะได้ให้การรักษาได้ทันท่วงที

"ลองนึกภาพถ้าคนไทยเกือบครึ่งประเทศต่อมหมวกไตฝ่อไม่ทำงาน เวลามีเชื้อโรคแม้ไม่ดุเดือดเข้ามา กลับต้องเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิตทั้งๆที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น"