นักวิจัย "โมเดอร์นา" ชี้ ไม่เกิน 10 ปี โลกจะมีวัคซีนป้องกันมะเร็ง-โรคหัวใจ

10 เม.ย. 2566 | 19:45 น.

ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทโมเดอร์นา ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ชั้นนำเผยว่า ภายในปีค.ศ. 2030 โลกจะมีวัคซีนป้องกันโรคร้ายอย่างมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยนับล้านๆคน

ดร.พอล เบอร์ตัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของ บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนา วัคซีนโควิด-19 ด้วย เทคโนโลยี mRNA กล่าวกับเดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของอังกฤษ โดยระบุ เขาเชื่อว่าบริษัทจะสามารถนำเสนอการรักษาสำหรับโรคต่างๆทุกประเภทภายในเวลาเพียง 5 ปี โดยที่ผ่านมาผลการศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แสดงให้เห็นความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ที่ว่า นักวิจัยนั้นสามารถ พัฒนาวัคซีน ได้เร็วขึ้นโดยใช้องค์ความรู้งานวิจัย 15 ปีมาพัฒนาวัคซีนภายในเวลาเพียง 12-18 เดือน

ดร.เบอร์ตันกล่าวว่า ด้วยพัฒนาการดังกล่าวจึงมั่นใจว่าโลกจะได้เห็นวัคซีนป้องกันโรคร้ายอย่าง มะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมใช้งานภายในปี ค.ศ.2030 หรืออีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้ บริษัทโมเดอร์นาเองก็กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งที่พุ่งเป้าไปยังเนื้องอกประเภทต่าง ๆ

“เราจะมีวัคซีนนั้น และมันจะมีประสิทธิภาพสูง สามารถช่วยชีวิตผู้คนนับแสนหรือหลายล้านชีวิต ผมคิดว่าเราจะสามารถมีวัคซีนป้องกันมะเร็งเฉพาะบุคคลเพื่อต่อต้านเนื้องอกชนิดต่างๆแก่ผู้คนทั่วโลก”

นักวิจัยของบริษัทโมเดอร์นา เผยว่า ภายในปีค.ศ. 2030 โลกจะมีวัคซีนป้องกันโรคร้ายอย่างมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยนับล้านๆคน

เขายังกล่าวด้วยว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจหลายระบบในอนาคตจะสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียวหรือเพียงเข็มเดียว ทำให้ผู้ป่วยได้รับการป้องกันจากทั้งโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสทางเดินหายใจ (RSV) โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนหลายตัวอีกต่อไป

ดร.เบอร์ตันแสดงความมั่นใจว่า เทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นการทำให้เซลล์ของร่างกายเรียนรู้ที่จะสร้างโปรตีนขึ้นมากระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้ต่อสู้กับโรคภัยต่างๆจะเป็นทางออกสำหรับโรคหายากที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมียารักษามาก่อน “ผมคิดว่า 10 ปีนับจากนี้ เราจะเข้าใกล้โลกที่คุณสามารถระบุสาเหตุทางพันธุกรรมของโรคต่างๆได้อย่างแท้จริง และจะสามารถแก้ไขและซ่อมแซมต้นเหตุของโรคนั้นๆโดยใช้เทคโนโลยี mRNA”

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ก้าวการพัฒนาที่รวดเร็วนั้นต้องอาศัยการทุ่มเทงบประมาณเพื่อการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

แต่เดิมนั้น การพัฒนาวัคซีนมักใช้โปรตีนของไวรัสหรือใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอ ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา แต่สำหรับเทคโนโลยี mRNA นั้น เป็นการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ โดยจะฉีดสารพันธุกรรมที่เรียกว่า mRNA หรือ mRNA molecule เข้าไปในร่างกาย ซึ่งร่างกายก็จะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายหนามของไวรัส แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ขึ้นมา และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้กับไวรัสต่อไป

นักวิจัยเชื่อว่าในอนาคต วัคซีนจะสามารถทำให้ภูมิต้านทาน โจมตี-ทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายผู้ป่วยได้โดยไม่ทำลายเซลล์ที่แข็งแรง

ซึ่งในกรณีวัคซีน mRNA ต้านมะเร็งนั้น เมื่อฉีดให้ผู้ป่วยก็จะไปกระตุ้นเซลล์ให้สร้างโปรตีนชนิดที่เราต้องการให้ระบบภูมิต้านทานสร้างขึ้นมา และสามารถโจมตี-ทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายผู้ป่วยได้โดยไม่ทำลายเซลล์ที่แข็งแรง

 “ผมคิดว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คือ หากคุณเคยคิดว่า mRNA เป็นเพียงวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อหรือสำหรับโควิด-19 เท่านั้น หลักฐานในตอนนี้ชี้ชัดว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันใช้ได้กับทุกพื้นที่ของโรค ไม่ว่าจะกลุ่มโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิต้านทานทำลายตัวเอง หรือกลุ่มโรคหายากต่างๆ เรามีการศึกษาในทุกด้านและทั้งหมดได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ยิ่งใหญ่มาก” ดร.เบอร์ตันกล่าว

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โมเดอร์นาประกาศผลการทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีน mRNA สำหรับโรค RSV ซึ่งบ่งชี้ว่ามีประสิทธิภาพ 83.7% ในการป้องกันโรคอย่างน้อย 2 อาการ คือ อาการไอและไข้ ในผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป

และจากข้อมูลนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติกำหนดให้มันเป็นวัคซีนเพื่อการรักษาแบบก้าวหน้า หมายความว่าจะมีการเร่งทบทวนกฎระเบียบเพื่อลดเวลากระบวนการที่จะนำมาใช้จริงให้สั้นลง

ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ FDA ได้อนุมัติให้วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลของโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเพื่อการักษาก้าวหน้าเช่นกัน โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ล่าสุดของการใช้วัคซีนในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่ออกมาดี

 

ข้อมูลอ้างอิง