เตือน!ลดไขมันมากไปเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก ควรทำยังไงอ่านเลย

08 เม.ย. 2566 | 20:47 น.

เตือน!ลดไขมันมากไปเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก ควรทำยังไงอ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์แนะทุกคนต้องตระหนักถึงสุขภาพ สามารถกำหนดได้จากการกิน และต้องต่อต้านการใช้สารเคมี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความระบุว่า การลดไขมันมากไป อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า ได้เรียนให้ทราบไปแล้วเกี่ยวกับการศึกษาที่พบว่า ไขมันที่ว่าเลว ลดมากไป กลับเส้นเลือดแตกในสมอง ซึ่งมาจากการรายงานในวารสารทางสมองของสหรัฐ Neurology ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการติดตามข้อมูลผู้หญิงวัยกลางคนถึงอายุมากจำนวน 27,937 คนและติดตามไป 20 ปีโดยพบว่า

ถ้าลดไขมันไม่ดี (LDL) ให้น้อยกว่า 70 และลดไขมันที่ได้จากแป้งน้ำตาลของหวาน (triglyceride) มากเกินไปจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่เส้นเลือดในสมองแตกเพิ่มขึ้น 2.17 เท่า
 
การศึกษาล่าสุดนี้ตีพิมพ์ล่วงหน้าออนไลน์ ในวารสารฉบับเดิมในวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ยืนยันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 65% ของการที่มีเส้นเลือดแตกในสมอง เมื่อลดระดับไขมันเลวลงไปน้อยกว่า 70 และความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้น ถึง 169% ในกลุ่มที่ลดลงไปน้อยกว่า 50 เมื่อมาเทียบกับกลุ่มที่มีระดับอยู่ที่ 70 ถึง 99

อย่างไรก็ดี หมอธีระวัฒน์ บอกว่า การศึกษาได้ทำการติดตามประชากรในประเทศจีนเป็นจำนวน 101,510 คน (Kailuan study) โดยมีการรวบรวมประชากรในกลุ่มศึกษาระหว่างเดือนมิถุนายน 2006 และเดือนตุลาคม 2007 มีการตรวจร่างกายและตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ และระดับไขมันชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการสอบประวัติทางด้านสุขภาพสุขอนามัย ทั้งนี้ไม่ได้รวมคนที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดหัวใจตัน หรือมะเร็ง

หลังจากที่ตัดกลุ่มที่ได้ข้อมูลไม่ครบสมบูรณ์ไปแล้ว มีจำนวน 14% ใน 96,043 คนที่มีระดับ "ไขมัน" เลวอยู่ต่ำกว่า 70

และในระยะ 9 ปีต่อมาพบว่า 753 รายเกิด "เส้นเลือดแตกในสมอง" และในกลุ่มนี้มีจำนวน 179 รายหรือเท่ากับ 24% ที่มีระดับความไขมันเลวต่ำกว่า 70 ก่อนที่จะมีเส้นเลือดแตก

หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า การศึกษาดังกล่าวได้ทำการปรับตัวควบคุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ การศึกษา อาชีพ สถานะของการออกกำลังกาย การกินเหล้าสูบบุหรี่ รวมกระทั่งถึงประวัติของการเจ็บป่วยที่จะโยงไปถึงการที่มีเส้นเลือดแตกในสมอง

ผลวิเคราะห์ แสดงอัตรา adjusted hazard ratio ที่ 1.69 (95% confidence interval, 1.32-2.05) สำหรับความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดแตกในกลุ่มที่มีระดับไขมันเลวต่ำกว่า 70 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับ 70 ถึง 99

และในกลุ่มที่มีระดับไขมันเลวระหว่าง 50 ถึง 69 จะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นไปอีก (HR, 2.69;95%CI,2.03-3.57) โดยที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือผลที่ได้รับไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้ตัดกลุ่มที่ใช้ยาลดไขมันหรือใช้ยาละลายลิ่มเลือดออก

ความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดแตกในสมอง จะไม่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีระดับไขมันเลวระหว่าง 70 ถึง 99 กับกลุ่มที่มีระดับ 100 หรือมากกว่า

หมอธีระวัฒน์ บอกว่า ประเด็นที่สำคัญก็คือผู้วิจัยได้ให้ความเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับไขมันที่ต่ำกับการเกิดเส้นเลือดแตกในสมองนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากไขมันคอเรสเตอรอล มีบทบาทที่สำคัญในโครงสร้างของผิวผนังเซลล์และการที่มีระดับไขมันต่ำมาก จะสามารถนำไปสู่การที่มีเม็ดเลือดแดงเปราะ 

นอกจากนั้นไขมันถึงแม้เรียกว่าเลวก็ตามยังมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการควบคุมการแข็งตัวของเลือดและที่สำคัญก็คือการสะสมตัวของโปรตีนอมิลอยด์ ในผนังเส้นเลือดสมอง ซึ่งในขณะนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายการเกิดเส้นเลือดแตก

จากข้อมูลดังกล่าว ผู้วิจัยได้ให้ความเห็นว่าระดับไขมันเลวที่อยู่ระหว่าง 70 ถึง 99 น่าจะเป็นทางสายกลางที่เหมาะสมทั้งในโรคเส้นเลือดตีบในหัวใจและสมอง โดยที่ไม่เกิดแตกมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคนในการที่จะบอกว่าระดับไขมันเลวควรจะอยู่ที่สูงหรือต่ำแค่ไหน โดยที่อาจยังเกี่ยวข้องกับสไตล์ของการดำเนินชีวิต ภาวะสุขภาพ โรคประจำตัว แม้กระทั่งเชื้อชาติ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ ข้อจำกัดในการศึกษานี้ยังอยู่ที่ความแตกต่างในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งเป็นประเด็นทำให้มีข้อโต้แย้งว่า มีการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าคนจีนมีความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดตันและเส้นเลือดแตกในสมองโดยมีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการศึกษานี้ทำในคนจีน การศึกษาก่อนหน้านั้นที่ได้กล่าวไปแล้วทำในคนอเมริกัน และได้ผลคล้ายคลึงกัน จุดเด่นของการศึกษาล่าสุดนี้อยู่ที่มีการวัดประเมินระดับของไขมันเลวหลายครั้งในช่วงระยะเวลาการติดตาม

หมอธีระวัฒน์ จ้องคำถามว่า เราจะทำอย่างไรถ้าลดมากไปก็แตก ถ้าสูงมากไปก็กลัวตีบ

สำหรับในเรื่องของตีบนั้น ความจริงเราก็ทราบมานานพอสมควรแล้วว่า เส้นเลือดตีบในหัวใจและสมองนั้นผู้ร้ายไม่ใช่เป็นเรื่องไขมันสูงอย่างเดียว 

หลักฐานที่พบว่าการใช้ยาลดไขมัน สแตติน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจมีมาตั้งแต่ปี 1994 จนกระทั่งในปี 1997 และ 1998 มีการศึกษาใหญ่สองรายงานที่พบว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันนั้น ตัวการใหญ่ก็คือเรื่องการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายและถ้าสามารถลดการอักเสบนั้น ความเสี่ยงจะลดลง

ในปี 1998 ถึงได้มีการตระหนักว่ายาลดไขมันสแตติน ที่จริงแล้ว มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบและลดระดับไขมันเลว พร้อมกัน 

จนกระทั่งในปี 2008 ถึงได้มีการพิสูจน์ว่ายาลดไขมันช่วยป้องกันการเกิดเส้นเลือดตีบตันในคนได้จริง จากทั้งสองกลไกนี้

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่พิสูจน์ได้ชัดเจนถึงเรื่องการลดการอักเสบเฉย ๆ โดยไม่ได้แตะต้องระดับของไขมันเลวก็สามารถป้องกันคนที่เคยมีเส้นเลือดหัวใจตันไปแล้วไม่ให้เกิดการตีบตันใหม่ได้อีกถึง 30% เพิ่งมาปรากฏในปลายปี 2017 นี้เอง

ดังนั้นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ

การปรับลดภาวะการอักเสบในร่างกาย ได้แก่อาหารการกิน ลดแป้งน้ำตาลของหวาน ลดการกินเนื้อสัตว์ที่เดินได้บนดิน คงไว้ซึ่งสัตว์น้ำ กินผักผลไม้กากใย 

และแน่นอนต้องไม่มีสารเคมีกันบูดกันเสีย สารพิษฆ่าหญ้าฆ่าแมลงซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายและส่งผลไปยังผนังเส้นเลือดและทำให้เกิดการยอมรับไขมันเข้าไปเสียบตัวในผนังเส้นเลือดและก่อให้เกิดการอักเสบในผนังเส้นเลือดเป็นกระบวนการตามติดมา

เรายังสามารถอธิบายกลไกการเกิดสมองเสื่อม ความจำเสื่อม โรคพาร์กินสันได้จากกระบวนการอักเสบในร่างกายซึ่งส่งผลไปยังสมองได้อีกด้วย และมีหลักฐานพิสูจน์ว่าการลดการอักเสบที่ว่าสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้แม้กระทั่งโรคมะเร็งปอด

หมอธีระวัฒน์ สรุปได้อย่างน่าสนใจว่า ทุกคนต้องตระหนักว่าสุขภาพของเราเอง สามารถกำหนดได้จากการกิน การเลือกกินและการไม่กินอาหารบางประเภท และต้องต่อต้านการใช้สารเคมีที่ปะปนเข้ามาในอาหารพืชผักผลไม้ และแน่นอนการออกกำลังสม่ำเสมอ งดบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้าเกินปริมาณเพื่อสุขภาพ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืนและถาวร