กรมการแพทย์แนะวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาล“ฮีทสโตรก” ภัยหน้าร้อน

05 เม.ย. 2566 | 01:31 น.

กรมการแพทย์แนะวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาล“ฮีทสโตรก” ภัยหน้าร้อน เช็คอาการที่ควรสงสัยว่าจะเป็น ปัจจัยเสี่ยง เผยรายงานผู้เสียชีวิตอากาศร้อนเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปี 2558-2562 เฉลี่ยแต่ละปีถึง 43 ราย

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการเจ็บป่วยที่ควรสงสัยภาวะ "ฮีทสโตรก" (Heatstroke) หรือโรคลมแดด ประกอบด้วย 

  • อุณหภูมิในร่างกายสูงมากกว่า 40.5°C 
  • มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ซึมลง หมดสติ กระวนกระวาย เพ้อสับสน หรือชักได้ 
  • ผิวหนังร้อนและแห้ง เนื่องจากไม่สามารถสร้างเหงื่อเพื่อลดอุณหภูมิได้ ในระยะเริ่มต้นของภาวะ Heatstroke ผู้ป่วยยังสามารถมีเหงื่อได้อยู่ 

อย่างไรก็ดี หากพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพาผู้ป่วยออกจากการอยู่กลางแจ้ง และปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วส่งพบแพทย์ทันที
 

สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้อต้นนั้น สามารถทำได้ดังนี้ 

  • รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและอากาศถ่ายเทได้ดี 
  • ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน 
  • นำผ้าเปียกวางตามร่างกายผู้ป่วย เช็ดตามข้อพับต่างๆเพื่อทำให้อุณหภูมิเย็นลง 
  • เปิดพัดลมเพื่อระบายความร้อน พร้อมกับโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล      
  • หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวควรทำการนวดหัวใจควบคู่ไปกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ AED หรือทำตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

กรมการแพทย์แนะวิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาลฮีทสโตรกภัยร้ายหน้าร้อน แพทย์หญิงวริษฐา เอกเมธีพันธ์ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า การป้องกันภาวะ "ฮีทสโตรก" ได้แก่ 

  • ควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี และน้ำหนักเบา 
  • หลีกเลี่ยงแดดหรือสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัด 
  • ดื่มน้ำให้เพียงแม้จะไม่กระหายน้ำก็ตาม 
  • หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง แนะนำให้จัดในช่วงเช้าหรือเย็น เนื่องจากช่วงกลางวันเป็นช่วงที่ร้อนสูงสุด 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
     

ทั้งนี้ การเจ็บป่วยฮีทสโตรกเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากความร้อนอย่างหนึ่ง ที่อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับระดับอุณหภูมิในร่างกายไป 

ส่งผลให้ร่างกายมีอุณภูมิสูงมากเกินไปจนทำให้ระบบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ เสียหายและไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ เกิดความดันตก หัวใจวาย ปวดบวมน้ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ในที่สุดหากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที

นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่มีรายงานอากาศร้อนที่สุด เป็นปัจจัยทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด "ฮีทสโตรก" 

นอกจากนี้ยังพบรายงานปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ นักกีฬา ทหารเกณฑ์ หรือผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่มีความร้อนชื้น ภาวะฮีทสโตนกอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาเสพติด และยารักษาโรคทางจิตเวช

"ประเทศไทย มีรายงานมีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคมของปี 2558-2562 โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ถึง 43 ราย นอกจากนี้รายงานจากต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เนื่องด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน"