ฮีทสโตรกอาการอย่างไร รักษาแบบไหน ถึงตายหรือไม่ อ่านเลยที่นี่

31 มี.ค. 2566 | 01:14 น.

ฮีทสโตรกอาการอย่างไร รักษาแบบไหน ถึงตายหรือไม่ อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังประเทศไทยในอากาศร้อนจัดและอุณหภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้น ระบุมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วย

ฮีทสโตรกอาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาแบบไหน กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เวลานี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน และมีอากาศร้อนค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ล่าสุด กรมการแพทย์ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ"ฮีทสโตรก" หรือโรคลมแดด

สำหรับฮีทสโตรกนั้น เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน 

ส่วนอาการของโรคเป็นอย่างไรนั้น นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน 

 

ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบ ที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วไป 

ขณะที่การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน 

ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ 

อย่างไรก็ดี หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม อุปกรณ์ ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด 

นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน