วิธีสังเกตสัญญาณเตือน "มะเร็งหัวใจ" มีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์

01 ก.พ. 2566 | 10:00 น.

กรมการแพทย์ เผย "มะเร็งหัวใจ" พบได้ในทุกเพศ ทุกวัยแต่พบได้น้อยมาก แนะวิธีสังเกตสัญญาณเตือนหากพบผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

จากกรณีกระแสข่าวที่ "อ๋อม-อรรคพันธ์ นะมาตร์" ดาราหนุ่มมากฝีมือป่วยอย่างกะทันหันและต้องเข้ารับการรักษาตัวเนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อหัวใจ ระยะ 2-3 นั้น

ล่าสุด กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผยถึงสาเหตุ "มะเร็งหัวใจ" โรคร้ายที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบได้น้อยมาก อีกทั้ง ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่แน่ชัด ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที โดยนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยว มะเร็งหัวใจ ไว้ดังนี้ 

รู้จัก มะเร็งหัวใจ

มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer หรือ Heart cancer) เป็นโรคที่พบได้น้อยมากแต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ แล้วกระจายมาที่หัวใจ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถแพร่กระจายมาที่หัวใจได้แต่ถ้าเป็นมะเร็งหัวใจเองส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Angiosarcoma

ส่วนที่เกิดจาก กล้ามเนื้อหัวใจ เรียกว่า Rhabdomyosarcoma ซึ่งมะเร็งหัวใจของทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ค่อยตอบสนองต่อการฉายแสงและยาเคมีบำบัดจึงต้องใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกให้หมด โดยมะเร็งหัวใจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  • มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ ได้แก่ มะเร็ง Angiosarcoma, Rhabdomyosarcoma, Fibrosarcoma, Malignant schwannoma, Mesothelioma
  • มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ (Secondary cardiac cancer หรือ Metastatic cardiac cancer) ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น

ด้านนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค รวมถึงยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่แน่ชัดโดย อาการของมะเร็งหัวใจ มักจะมาด้วยอาการเหล่านี้

  • เหนื่อยง่าย
  • หอบ
  • ไอเรื้อรัง
  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • หน้าบวม
  • คอบวม
  • หลอดเลือดดำที่คอโป่ง
  • ตับโต
  • ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง
  • ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งหัวใจ

ทำได้โดยการตรวจประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญ คือ ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอคโคหัวใจ

การตรวจสืบค้นอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และหรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจภาพและหลอดเลือดหัวใจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดง (Cardiac angiography) และการตรวจก้อนเนื้อหรือรอยโรคด้วยการดูดเซลล์มาตรวจที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ การรักษาจะเป็นการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยตรง (Open heart surgery) และรักษาต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดตามชนิดของแต่ละเซลล์มะเร็งซึ่งการรักษาร่วม ทั้งผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง จะขึ้นกับระยะของโรค ขนาดและชนิดของมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป