โรคไข้เลือดออกกำลังจะกลับมา แนะ วิธีสังเกตอาการด้วยตัวเอง 

23 พ.ย. 2565 | 11:20 น.

กรมควบคุมโรค เตือน ประชาชนโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสัปดาห์นี้ หลังเกิดฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักหลายพื้นที่ แนะ วิธีป้องกันและสังเกตอาการได้ด้วยตัวเอง  

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัปดาห์นี้เกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทำให้มีขังน้ำตามภาชนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ที่ยุงลายชอบวางไข่โดยไข่ของยุงลายจะยึดติดแน่นกับของผิวภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย สามารถอยู่ได้นานเป็นปี เมื่อมีน้ำท่วมถึงสามารถฟักตัวเป็นระยะตัวเต็มวัยในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยุงลายตัวเต็มวัยจะออกหากินในช่วงกลางคืนมากขึ้น

 

ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 พฤศจิกายน 2565 มีรายงานผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 34,257 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมา 45-54 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป

 

อาการของโรคไข้เลือดออก

  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้อย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อหรือกระดูก
  • ปวดกระบอกตา หรือมีผื่น

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว ร้อยละ 58.8 ได้รับยา NSAIDs ร้อยละ 29.4 และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 23.5 ตามลำดับ

 

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และไม่ให้ยุงเกิด ด้วยวิธีนอนในมุ้ง อยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง 

ปฏิบัติตามหลัก "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค"

  • เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ
  • เก็บขยะ เศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ จำพวกเศษภาชนะวัสดุที่ทิ้งกระจาย รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถมดินไม่ให้น้ำขัง ยางรถยนต์เก่าสามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ
  • เก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ

ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

ไม่ซื้อยากินเอง เนื่องจากยาประเภท NSAIDs หรือ Steroid ทำให้มีอาการรุนแรงและเลือดออกมากขึ้น รักษายากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำให้ผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422