สมสท.ผนึกพันธมิตรมยกระดับการบริหารระบบข้อมูลสุขภาพเชื่อมต่อทุกมิติ

28 ก.ย. 2565 | 08:32 น.

สมสท.ผนึกพันธมิตรมยกระดับการบริหารระบบข้อมูลสุขภาพเชื่อมต่อทุกมิติ หลังข้อมูลสุขภาพพื้นฐานในระบบสาธารณสุขของไทยมีความซับซ้อนมาก

นายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) เปิดเผยว่า สมสท. ได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)(TCELS) และพันธมิตรสำคัญจาก Standards and Interoperability Lab Thailand (SIL-TH), H LAB และโรงพยาบาลสระบุรี ผลักดันให้ข้อมูลสุขภาพในไทยเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขครบทุกมิติ

 

ทั้งนี้ เนื่องจากทุกวันนี้ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานในระบบสาธารณสุขของไทยมีความซับซ้อนมาก บวกกับเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานนำมาใช้ในองค์กรของตนก็ต่างระบบกัน ในประเทศไทยเองถ้าหากนำระบบเทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลที่มีมาตรฐานระดับสากลเหล่านั้นมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศ เป็นตัวกลางการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพทั้งระบบสาธารณสุขของประเทศจะก่อให้เกิดผลดีต่อทุกภาคส่วน ส่งผลดีทั้งในแง่ของภาคโรงพยาบาลจะได้มีการบริหารจัดการที่ดี ภาคประชาชนก็จะได้รับการบริการที่มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น 

 

"ล่าสุดได้ร่วมกับพันธมิตรจัดงาน GETTING START with FHIR :The most practical and popular data standard in healthcare โดยมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาร่วมให้ความรู้" 
 

นายแพทย์รัฐ ปัญโญวัฒน์  ผู้ช่วยผู้จัดการ สมสท. กล่าวว่า สมสท. เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแรงในด้านการเก็บข้อมูลสุขภาพในไทย จากการศึกษาเรื่องมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบข้อมูล พบว่า  FHIR นั้นถูกออกแบบมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ใช้งานได้ง่าย อีกทั้งยังมีเครื่องมือต่างๆรองรับจำนวนมาก 

 

สมสท. เล็งเห็นว่าระบบดังกล่าวนี้จะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มความสะดวกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องใช้ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขได้นำไปพิจารณาในการยกระดับเพื่อการพัฒนาเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพโดยรวมเรียบร้อยแล้ว 

 

"การจัดงานเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้ มีผู้คนสนใจมาร่วมเวิร์กชอปเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ คงต้องทำงานควบคู่สอดรับกันไปเรื่อยๆ เพื่อร่วมกันพลิกโฉมระบบสาธารณสุขไทยในทุกมิติให้เกิดขึ้น”   

 

สมสท.ผนึกพันธมิตรมยกระดับการบริหารระบบข้อมูลสุขภาพเชื่อมต่อทุกมิติ

 

นางสาวกมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ H LAB  ผู้ที่นำแนวทางของ FHIR มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่อยอดในเชิงธุรกิจในประเทศและกำลังวางแผนไปตลาดโลก รวมถึงยังเป็นวิทยากรในงานนี้อีกด้วย กล่าวว่า ทาง  H LAB เริ่มศึกษาระบบ FHIR อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเราปรับกลยุทธ์จากเดิมเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านไอที (IT Consultant) เปลี่ยนมาเป็นให้บริการด้านไอที  (IT Solution) แบบครบวงจร 

ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมองหาระบบมาตรฐานข้อมูลสุขภาพที่ต้องตอบโจทย์มาตรฐานระดับสูงสุด ใช้งานง่าย มีความปลอดภัย ที่สำคัญต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อกับทุกระบบที่ต่างกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้บริษัทเราจึงนำแนวทางของ FHIR ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา 

 

และตอบทุกโจทย์ความต้องการของ H LAB นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในด้านการออกแบบการเก็บข้อมูล ,ออกแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะ FHIR สามารถผูกเข้ากับระบบมาตรฐานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ SNOMED-CT ซึ่งเป็นระบบจัดการคำศัพท์ทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการลงข้อมูลในทุกจุดของการรักษาพยาบาล เรียกได้ว่าตอนนี้ทางบริษัทใช้ FHIR ในการให้บริการงานด้านไอทีแบบครบวงจรเลยทีเดียว

 

นางสาวกมลวัทน์ กล่าวต่ออีกว่า H LAB ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาและช่วยพัฒนาระบบของทางโรงพยาบาลให้ดีขึ้นทั้งในการบริหารจัดการ,บุคลากร,การเบิกจ่าย เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ ทางบริษัทมีลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจในการเข้าไปดูแลวางระบบไอทีทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ซึ่ง H LAB มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้โรงพยาบาลในไทยก่อนเป็นอันดับแรก 

 

หลังจากนั้นภายใน 3 ปี จะไปชิงส่วนแบ่งการตลาดในต่างประเทศต่อไป และตั้งเป้าเติบโตของรายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อปี เพราะตอนนี้เริ่มมีโรงพยาบาลจากต่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนใจติดต่อมาทางH LAB เป็นที่เรียบร้อย 

 

นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งนำระบบ FHIR มาใช้งาน กล่าวว่า ในอดีตโรงพยาบาลสระบุรีมีปัญหาเรื่องการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากมีฐานจัดเก็บข้อมูลที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เวลาส่งต่อข้อมูลสุขภาพไปยังหน่วยงานอื่น เพื่อทำการวิเคราะห์และเบิกจ่ายในด้านต่างๆ เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา 

 

เนื่องจากฝ่ายไอทีต้องแปลงข้อมูลให้เข้ากับแต่ละระบบของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้  ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อการออกนโยบายบริหารงานเป็นอย่างมาก แต่หลังจากติดตั้ง FHIR แล้ว ทำให้ทีมไอทีลดเวลาทำงานลง 

 

และมีเวลาไปทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพตามนโยบายของโรงพยาบาลในด้านอื่นๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ทาง รพ. มีแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ทำให้คนไข้-ประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการเกิดความสะดวกสบาย ได้รับการบริการที่รวดเร็วทันใจ ตอบโจทย์การเข้ารับบริการได้ตรงจุดมากขึ้น