วันที่ 24 กันยายนของทุกปี หรือ วันมหิดล เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"
ในวันมหิดลของทุกปี พระบรมวงศานุวงศ์มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2493
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็นวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา
พระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 12 ปี ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และมีการพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน
วันที่ 24 กันยายนซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล"
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงานการสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที และเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาล เป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นหลังได้เจริญตามรอยพระยุคลบาท
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ในปี พ.ศ.2493 หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทิวงคต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2493 และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดงาน "วันมหิดล" โดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เป็นประจำทุกปี
เมื่อปี พ.ศ. 2503 ศ.นพ.กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้นเพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทนแก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก
ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ "ที่ระลึกวันมหิดล - วันที่ ๒๔ กันยายน" อยู่ส่วนบน และข้อความ "โรงพยาบาลศิริราช" อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่าง ๆ พิมพ์ภาพ(อยู่ซ้ายมือ)และข้อความ(เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ)
เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์
ต่อมาในปีพ.ศ. 2504 มีการผลิตธงเพิ่มเป็น 3 ขนาด โดยจะมอบธงขนาดใหญ่ให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มธงสีเขียว พิมพ์ภาพและข้อความด้วยสีขาวอีกลักษณะหนึ่งด้วย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2509 ได้เริ่มใช้สีธงตามวันในสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายนโดยในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ จึงผลิตธงด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้หลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งยังได้เริ่มจัดทำเสาไม้สีขาวพร้อมติดธงเพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปอีกด้วย ต่อมาภายหลังได้ยกเลิกการผลิตริบบินและเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสติกเกอร์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีต่าง ๆ โดยมีภาพและข้อความเช่นเดียวกันขึ้นมาทดแทน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลก็จัดเพิ่มวันออกหน่วยรับบริจาคเนื่องจากมีผู้บริจาคมากขึ้น
กระทั่งปี พ.ศ. 2520 ธงที่ระลึกซึ่งเตรียมไว้มีไม่เพียงพอกับการมอบให้ผู้บริจาค กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งก่อตั้งเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ด้วยชื่อเริ่มต้นว่า กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยจัดทำจนมีพอเพียงกับความต้องการของผู้บริจาค ต่อมาทาง รพ.ศิริราช ได้จัดจ้างกลุ่มอาสาฯ ให้เป็นหน่วยหลักในการผลิตธงที่ระลึกมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันกิจกรรมออกหน่วยรับบริจาคของคณะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลศิริราชจะนำเงินเข้าสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ (ก่อตั้งเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512)