กรมการแพทย์แผนไทย คาด "ยางู" เป็นยาแผนโบราณ "จีน-เวียดนาม" 

18 ก.ค. 2567 | 07:55 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 07:56 น.

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดข้อมูลเบื้องต้น คาด "ยางู -ยางูหมายเลข 7-ยาตรางู" เป็นยาแผนโบราณ "จีน-เวียดนาม" ชี้ ร้านขายยาแผนโบราณสามารถจำหน่ายให้กับคนไข้ได้

จากกรณีเป็นข่าวครึกโครมปมวางยาพิษสารไซยาไนด์ฆ่า 6 ศพที่โรงแรมชื่อดังย่านราชประสงค์ปมล้างหนี้ 10 ล้านบาท โดยล่าสุดมีการพูดถึง "ยางู" หรือ "ยางูหมายเลข 7" หรือ "ยาตรางู" จากนายฟาน หง็อก หวู ที่ไกด์ชาวเวียดนามกล่าวถึงซึ่งสร้างความสงสัยให้กับสังคมอยู่ในขณะนี้นั้น 

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์โดยอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สำหรับ "ยางู" ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้นเท่าที่ดูจากข่าว เป็นยาแผนโบราณ มีหลายขนาน โดยมีการใส่หมายเลขกำกับไว้ เช่น หมายเลข 1, 2, 3 เป็นต้น

เมื่อถามว่า ตรวจสอบจากไหน นพ.เทวัญ ระบุว่า ได้ตรวจสอบจากสื่อที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและปรากฎเป็นภาพออกมา เมื่อถามว่า สามารถบอกได้แล้วหรือไม่ว่า "ยางู" ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น คือ อะไร นพ.เทวัญ กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้น ยางู เป็นแบรนด์ เป็นยี่ห้อของยาจึงไม่ทราบว่า ในนั้นมีตัวยาอะไรบรรจุอยู่บ้างแต่เท่าที่ดูลงท้ายด้วย "หวั่น" ส่วนใหญ่เป็นยาโบราณแพทย์แผนจีนซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นยาแผนโบราณของเวียดนามด้วยหรือไม่ 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อมูลระบุว่า มีขายเฉพาะในประเทศไทย ทางกรมฯ มีข้อมูลตรงนี้หรือไม่นั้น นพ.เทวัญ ระบุว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยเรามีเรื่องยาแผนโบราณอยู่แล้วซึ่งก็จะมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีนสามารถที่จะทำจำหน่ายได้ เท่าที่ทราบน่าจะเป็นหมอแผนไทยซึ่งมีความรู้เรื่องยาแผนโบราณ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของตำรับแปลก ๆ เช่นนี้ต้องมีการขอขึ้นทะเบียนหรือไม่ อย่างไร นพ.เทวัญ กล่าวว่า มีข้อกฎหมายอยู่ คือ ถ้าเป็นของผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทยก็ต้องไปขอเปิดร้านขายยา เป็นร้านขายยาแผนโบราณซึ่งก็จะสามารถที่จะขายยาแผนโบราณตัวนี้ให้กับคนไข้ได้แต่ถ้าอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ เป็นยาแผนโบราณที่ผลิตโดยโรงงานซึ่งจะต้องไปขอเลขขึ้นทะเบียนกับ อย.

ถามว่าเบื้องต้นยาตัวนี้มีสรรพคุณอะไร นพ.เทวัญ กล่าวว่า เท่าที่ทราบน่าจะเป็นกลุ่มของยาบำรุง อย่างไรก็ดี ได้กล่าวยอมรับด้วยว่า ไม่ได้รู้ลึกว่าเป็นสมุนไพรอะไร

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่ตำรับยาไทยใช่หรือไม่ นพ.เทวัญ บอกว่า ถือเป็นยาแผนโบราณอย่างหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า แต่ก่อนภูมิภาคอาเซียนนั้นเชื่อมกันหมด ยาแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน กรณีนี้มีลักษณะที่ใส่เป็นตำรับของเขา อาทิ หมายเลข หนึ่ง หมายเลข สอง ซึ่งไม่ทราบในรายละเอียดว่า มีตัวยาอะไรต้องเข้าไปดูในสลากซึ่งจากในภาพที่ปรากฎเป็นข่าว เป็นยาแคปซูลซึ่งบรรจุข้างในเป็นผงสมุนไพรมีหลายตัว

ทั้งนี้ จากข้อมูล "ยางู" เท่าที่ดูในข้อมูลยังบอกไม่ได้ว่า เป็นแบรนด์ยาแผนโบราณหรือไม่ ทั้งยังกล่าวยอมรับด้วยว่า เพิ่งเคยได้ยิน แบรนด์ตรางู เป็นครั้งแรกเช่นกัน 

ต่อข้อซักถามว่า ทางกรมฯจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า กรมแพทย์แผนไทยดูแลเรื่องวิชาการ ขณะที่ตัวยาตัวนี้ก็ไม่มี ก็ไม่คิดว่าจะมีประเด็นอะไร ถ้ามีประเด็นเพิ่มเรื่องข้อกฎหมายก็จะเป็นเรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการ อย. ที่อาจจะเข้าไปตรวจสอบ ขณะที่หากเป็นเรื่องของยาบำรุงก็จะเป็นเรื่องของผู้ประกอบวิชาชีพที่ปรุงขึ้นมาให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย

หมายความว่า ถ้าควบคุมการขึ้นทะเบียนเปิดร้านขายยาถูกต้องและปรุงสำหรับคนป่วยของเขาเองก็ไม่ถือว่า มีความผิด เพราะถือว่า ขออนุญาตถูกต้อง แต่ถ้าผู้ที่ปรุงไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก็ต้องผิดกฎหมาย ไม่สามารถที่จะขายออนไลน์ได้ ต้องขายได้เฉพาะในร้านที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ส่วนกรณีพบว่ามีการขายทางออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊กนั้น นพ.เทวัญ ให้ข้อสังเกตว่า ประเด็นนี้อาจจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอาจจะต้องปรึกษาจากคณะกรรมการ อย.ด้วย