สารไซยาไนด์ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในยาพิษที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งเนื่องจากออกฤทธิ์เร็วเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ใช้ออกซิเจนไม่ได้ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 คดีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในคดี แอม ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากความร้ายแรงของสารพิษไซยาไนด์ วางยาฆาตกรรมเหยื่อและผู้เสียหาย รวม 15 รายขึ้นแท่นเป็นคดีประวัติศาสตร์ของฆาตกรต่อเนื่องที่วางยาฆ่าเจ้าหนี้มากถึง 15 คดีในพื้นที่ 8 จังหวัด
คดีนี้เกิดในปีตั้งแต่ 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย นางสรารัตน์ถูกแจ้ง 75 ข้อหา เป็นคดีที่มีการระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดคดีหนึ่งของไทย โดยผู้ก่อเหตุจากเดิมตั้งข้อสังเกตว่า สภาพจิตไม่ปกติ กระทั่งผลการสอบสอนระบุว่า มีสภาพจิตปกติดี
ในครั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า มีผลการวิจัยระบุว่า ลักษณะของฆาตกรต่อเนื่องหากเป็น หญิงจะเกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน ถ้าผู้ชายจะเป็นคดีเกี่ยวกับเพศ
สอดคล้องกับการแถลงผลการสอบสวนในครั้งนั้นที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ในฐานะประธานชุดสืบสวน ระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีความเกี่ยวพันกับ แอม ไซยาไนด์ ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์
ในขณะนั้นมีการเปิดเผยผลการชันสูตร นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย หนึ่งในผู้เสียชีวิต พบว่า มีสารพิษอยู่ในเลือดเป็นกลุ่มไซยาไนด์ นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบเหยื่อผู้เสียชีวิตหลายรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรงก่อนเสียชีวิตเช่นเดียวกับ นางสาวศิริพร
โดยแพทย์ระบุความเห็นว่า เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเฉียบพลัน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบเรื่องพิษในร่างกายและทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย
เจ้าหน้าที่สามารถสรุปสำนวนดำเนินคดีกับนางสรารัตน์ หรือ แอม ไซยาไนด์ ได้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 รวม 15 คดี ซึ่งประกอบด้วย ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ, ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้, การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอม และใช้เอกสารปลอมฯ รวมกว่า 75 ข้อหา
ตอนหนึ่งของการแถลงข่าวในวันนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ผู้ต้องหาวางแผนฆาตกรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปี โดยวางยาพิษให้เหยื่อกินทำให้เสียชีวิตในลักษณะเหมือนเจ็บป่วย เกิดภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลวทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตไม่มีข้อสงสัยเพื่อหวังเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หรือเป็นการล้างหนี้ที่เคยยืมมา
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า มีผลการวิจัยพบว่า หากฆาตกรเป็นผู้หญิงจะเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากคนใกล้ชิด หากเป็นผู้ชายจะเกี่ยวกับการฆ่า เรื่องทางเพศ และล่าเหยื่อเป็นหลัก
น่าสนใจว่า มีการตรวจสอบ ไซยาไนด์ ที่ใช้ก่อเหตุในคดีดังกล่าว มียี่ห้อชื่อ แพรีแอค ผลิตที่สเปน นำเข้าโดย 1 ใน 5 บริษัทในไทยซึ่งเป็นไซยาไนด์ที่มีความเข้มข้นถึง 75% และสั่งนำเข้ามา 2,000 ขวด ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งพบเป็นล็อตเดียวกันกับขวดของกลางที่ใช้
อย่างไรก็ดี มีการถูกจำหน่ายไปหลายแห่งทั้งสถานศึกษาและเทรดเดอร์ต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถสั่งซื้อได้ สำหรับนางสรารัตน์ พบว่า ได้สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ของบริษัทแห่งหนึ่งข้างต้นและผู้ต้องหาให้จัดส่งผ่านแมสเซนเจอร์แทนไปรษณีย์
เวลานั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสารเคมีและวัตถุอันตรายในกิจการอุตสาหกรรมตั้งแต่การผลิต การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และมีไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่า โรงงานขนาดเล็ก ร้านชุบเงิน ชุบทองและประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้จึงอาจเป็นช่องโหว่ในการนำสารไซยาไนด์ไปใช้ในทางที่ผิดได้
ล่าสุดคดีฆาตกรรม 6 ศพในโรงแรมดังย่านราชประสงค์ด้วยสารไซยาไนด์เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจ เกิดจากปมผู้ตายมีหนี้ 10 ล้านบาทและได้มีการทวงถามมาตลอด กระทั่งนัดหมายมาเคลียร์กัน จากจุดหมายปลายทางเดิมที่ประเทศญี่ปุ่นแต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องวีซ่าจึงเปลี่ยนมาที่ประเทศไทยแทน
จากการตรวจเชิงคุณภาพของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ร่วมกับ พนักงานสอบสวนในการเก็บวัตถุพยานไปพิสูจน์หลังเกิดเหตุสลดขึ้นในครั้งนี้
พบว่า มีสารไซยาไนด์ อยู่ในของเหลวในกาน้ำชา คราบในแก้วกาแฟของผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ถ้วยและจากการเก็บตัวอย่างเลือดของชายผู้เสียชีวิตที่นั่งพิงกำแพง พบว่า เลือดมีส่วนผสมของไซยาไนด์เช่นเดียวกัน
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก ทอง จิลเวลรี่ การทำขั้วโลหะ สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหารสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด เช่น เมล็ดของแอพพริคอท (Apricot) และเชอรรี่ดำ (Black cherry) และสารลินามาริน (Linamarin) ซึ่งพบได้ในหัวและใบของมันสำปะหลัง (Cassava) นอกจากนี้กระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ก็สามารถก่อให้เกิดสารไซยาไนต์ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ทั้งการสัมผัส การสูดดม รับประทาน เป็นต้น
อาการแสดงหลังได้รับไซยาไนด์ เช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของ ไซยาไนด์ ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ