คาดทั่วโลกป่วยมะเร็งทะลุ 35 ล้านคน ในปี 2593 จาก “บุหรี่-มลพิษทางอากาศ”

16 เม.ย. 2567 | 03:18 น.

องค์การอนามัยโลก-องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ คาดผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกทะลุ 35 ล้านคน ในปี 2593 ระบุปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจาก “บุหรี่-แอลกอฮอล์-โรคอ้วน-มลพิษทางอากาศ”

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) เผยแพร่ตัวเลขแสดงสถานการณ์โรคมะเร็งทั่วโลก และการสำรวจสิทธิประโยชน์ด้านมะเร็งใน 115 ประเทศ

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 77% จากจำนวนผู้ป่วย 20 ล้านรายในปี 2565 แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งจะก่อให้เกิดภาระกับประเทศ พร้อมสะท้อนถึงอัตราผู้สูงวัยและการเติบโตของประชากร รวมถึงพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยสำคัญเรื่องมลพิษทางอากาศ

ขณะที่มะเร็งที่พบบ่อยทั่วโลก คือ “มะเร็งปอด” โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 2.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 12 ของผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด และเสียชีวิตร้อยละ 18.9 รวมเป็น 1.8 ล้านคน ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

“มะเร็งเต้านม” ในผู้หญิงพบมากเป็นอันดับ 2 ในแง่ของอุบัติการณ์ โดยมีผู้ป่วย 2.3 ล้านรายทั่วโลก หรือร้อยละ 11.6 แต่คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของการเสียชีวิต

ในส่วนของมะเร็งอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” “มะเร็งต่อมลูกหมาก” และ “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

ทั้งนี้ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองลงมาคือ “มะเร็งตับ” “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ส่วน “มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 8 ของโลก เป็นสาเหตุอันดับที่ 9 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงใน 25 ประเทศ ซึ่งหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา

“เรื่องนี้อาจทำให้ทั่วโลกออกห่างจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 3 คือสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) ที่ครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพและสวัสดิภาพที่สำคัญหลายประเด็น

โดยเฉพาะที่ต้องการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573