จุฬาฯ แนะกู้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัย

16 มี.ค. 2567 | 07:45 น.

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ แนะถึงเวลากู้วิกฤตประชากร หลังพบอัตราการเกิดน้อย ปี 66 ลดลงเหลือ 66.05 ล้านคน ขณะที่วิถีไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอดด้วยสปีดความเร็วสูง

ข้อมูลจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จำนวนประชากรไทยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องและสังคมสูงวัยแบบสุดยอดด้วยความเร็วสูง(Super Aged Society) เพราะอัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย ในปี 2563 มี 66.55 ล้านคน, ปี 2563 มี 66.18 ล้านคน, ปี 2564 มี 66.17 ล้านคน, ปี 2565 มี 66.09 ล้านคน และปี 2566 มี 66.05 ล้านคน

โดยปี 2567 ก็มีแนวโน้มที่ประชากรไทยจะลดลงอีก ต้องปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด 1.ยิ่งมีประชากรน้อยลง ยิ่งต้องทำให้ประชากรที่มีอยู่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า และเป็นกำลังในการพัฒนาสังคม โดยมีครอบครัวเป็นหน่วยที่สำคัญ 2.เปลี่ยนจากสังคมปัจเจกให้เป็นสังคมเอื้ออาทร และอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง 3.การดำเนินชีวิตทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว

ปัจจัยที่ทำให้คนในสังคมเป็นโสด แต่งงานช้า มีบุตรยาก รวมถึงแต่งงานแต่คุมกำเนิด มีบุตรน้อยหรือไม่มีบุตรเลย มีทั้งเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเน้นความเป็นปัจเจกมากขึ้น ให้ความสำเร็จในเชิงวัตถุ และความไม่เท่าเทียมในบทบาททางเพศยังปรากฎให้เห็นอยู่ รวมถึงปัจจัยทางจิตวิทยา ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตการเรียนและการทำงานมากกว่าสร้างครอบครัว

จุฬาฯ แนะกู้วิกฤตประชากร เด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัย

การแข่งขันในสังคมสูง ก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างครอบครัวหรือมีบุตร ผู้หญิงและผู้ชายต้องทำงานเชิงเศรษฐกิจ แต่ผู้หญิงจะแบกภาระงานบ้านและเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ การลงทุนทางการศึกษาสำหรับบุตรมีค่าใช้จ่ายสูงมาก Ecosystem จึงไม่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว ทำให้เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบ Super Aged Society ด้วยอัตราเร่งและเร็ว

ขณะที่การประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank หลังจาก Workshop ระดมความคิดจากทุกภาคส่วน

รูปแบบ World Cafe จากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์เพื่อความมั่นคงของครอบครัว รวมทั้งผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการนำเสนอนโยบายการขับเคลื่อนงาน 5 ด้าน ที่ต้องทำทันที ได้แก่

1.การเสริมพลังวัยทำงาน ให้สามารถสร้างตัวดูแลครอบครัวได้ โดยเร่งการพัฒนาคุณภาพในระยะสั้น และการหาแนวทางเพิ่มปริมาณในระยะยาว

2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน แม้เด็กเกิดน้อย แต่ต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา คุณธรรมและจิตใจ ให้รู้เท่าทันโลกไม่หลงโลก

3.สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา ฝ่าวิกฤติทางประชากรให้เป็นโอกาสสูงสุด

4.เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างงคุณค่าของคนพิการ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียม

5.สร้างกลุ่มระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

นโยบายทั้ง 5 ด้านเป็นการคืนลูกให้ครอบครัว คืนครอบครัวให้สังคม และคืนสังคมให้ประเทศ อย่างแท้จริง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม,) กล่าวว่า ทุกหน่วยงานของภาคราชการจะต้องนำแนวทางดังกล่าวไปขยายต่อ และปรับใช้กับมิติการทำงานของแต่ละกระทรวง ยกตัวอย่าง เช่น กระทรวง พม. ที่ต้องตั้งโจทย์ว่าการดูแลเด็กเล็กจะทำอย่างไร

การดูแลผู้สูงอายุจะทำอย่างไร การเสริมศักยภาพคนพิการจะทำอย่างไร ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ครอบครัวของไทยมีความเข้มแข็ง มีความอบอุ่นมากขึ้น เพราะหากสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง ก็จะอยากมีลูก มีครอบครัว และเมื่อชุมชนมีความอบอุ่นด้วยแล้ว เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ก็อยากมีผู้สืบสกุลไปในที่สุด

“สังคมไทยมีองค์ประกอบหลายอย่างมาก และปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ การเพิ่มประชากรถือเป็นผลผลิตของสังคมที่น่าอยู่ ในวันนี้มีหลายกระทรวงและหลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ถ้าทำระบบตอบรับโจทย์ของคนทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะ ที่สามารถพัฒนาระบบการศึกษาของเด็กนักเรียน คนทำงาน และผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้คนสูงอายุได้กลับเข้ามาอยู่ในเวิร์คมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะรู้สึกถึงความมั่นคงและอยากมีครอบครัว”

วราวุธ ศิลปอาชา

สำหรับสถานการณ์วิกฤตทางประชากรไทย ในอีก 60 ปีข้างหน้าอาจจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้ได้เช่นกัน โดยสถานการณ์ในระยะ 5-10 ปี ถือว่าน่าวิตกเพราะจะกลายเป็นวิกฤตเรื้อรังในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน คือ

1. อัตราการเกิดน้อยลง ภาวะเจริญพันธุ์ลดตํ่าลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับตํ่ามาก คนไทยมีลูกในสัดส่วน 1:1 (Ultra-low Fertility) ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสัดส่วน 1.3 :1 ประเทศเกาหลีใต้ 0.78 :1

2. คนอายุยืนยาวขึ้น คาดเฉลี่ย (Life Expectancy at Birth) ของไทย 76 ปี ผู้หญิงเฉลี่ย 80 ปี ผู้ชาย 73 ปี

3. จำนวนประชากรไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 เหลือเพียง 66.05 ล้านคน

4. การก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอดด้วยความเร็วสูง (Super Aged Society) ยิ่งอัตราการเกิดน้อยลง ยิ่งเป็นปัจจัยเร่ง ทำให้สัดส่วนประชากรในวัยเด็กและวัยแรงงานลดลงมาก ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

5. ประชากรรุ่นสึนามิ (อายุ 40-59 ปี) กำลังเคลื่อนสู่วัยสูงอายุ และกำลังเป็นแรงงานตอนปลาย ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า

ยังมีปัจจัยประกอบอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุรุ่นหลังมีบุตรน้อยลงหรือไม่มีบุตรเลย หรืออยู่เป็นโสด ทำให้คนที่จะดูแลผู้สูงอายุลดน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุ NearElderly (50-59 ปี) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย เพราะค่าใช้จ่ายของรัฐในการจ่ายเบี้ยยังชีพจะยิ่งเพิ่มขึ้น

โดยในปี 2566 ใช้งบประมาณไป 7.7 หมื่นล้านบาท ต่อผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน คาดว่า ปี 2572 จะใช้งบประมาณเพิ่มเป็น 1.26 แสนล้านบาท และหากเพิ่มเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท/คน และจ่ายแบบทั่วหน้า ภายใน 5ปี จะต้องใช้งบประมาณ 1.89 แสนล้านบาท และหากเพิ่มเป็น 3.000 บาท จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5.68 แสนล้านบาท

และหากผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ระบบประกันสังคมอาจล้มละลายได้ (Inflow ชะลอตัว Outflow เร่งตัว) เนื่องจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ (ระบบประกันสุขภาพ) จะสูงสุดในวัยสูงอายุและช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งคาดกันว่าหากมีประชากรสูงอายุเพิ่มเป็น 15 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายระบบประกันสุขภาพ จะสูงถึงประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องประชากรวัยเด็กและแรงงานน้อยลงก็เป็นส่วนสำคัญ เมื่อผลิตภาพ (Productivity)ของประชากรยังคงอยู่ในระดับตํ่า การศึกษาของไทยยังไม่สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้และสมรรถนะตามหลักมาตรฐานสากล เมื่อวัดผลลัพธ์ในเชิงเปรียบเทียบ ตํ่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านและสังคมโลก) อีกทั้งเกิดครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 16.4 (ปี 2558) เพิ่มเป็นร้อยละ 21.4 (ปี 2565) ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ลำพังหรืออยู่กับคู่สมรสลำพังเพิ่มขึ้น

ด้วยปัญหาดังกล่าว จะทำให้โอกาสที่ประเทศจะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นไปได้ยาก อาจนำไปสู่การถดถอยลงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบสวัสดิการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของครอบครัว การแก้วิกฤตประชากรไทยจึงต้องเดินหน้าอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,974 วันที่ 14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567