สปสช. ร่วมขับเคลื่อนมะเร็งครบวงจร เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 5 รายการ 

04 ก.พ. 2567 | 06:10 น.

วันมะเร็งโลก สปสช. เดินหน้ารองรับนโยบาย "มะเร็งครบวงจร" เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ด้านมะเร็ง 5 รายการ ปี 2567 เน้นขับเคลื่อนบริการตรวจคัดกรอง ค้นหากลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยระยะเริ่มต้น หวังลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากมะเร็งร้าย

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็น "วันมะเร็งโลก" (World Cancer Day) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ "มะเร็งครบวงจร" เป็นหนึ่งในนโยบาย Quik win เพื่อดูแลโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู ที่รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย 

ในส่วนของการดำเนินการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทนั้น ที่ผ่านมาได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ที่เป็นการสนับสนุนนโยบายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงรักษาที่มีประสิทธิภาพ

การเดินหน้าการตรวจคัดกรองโรคเชิงรุกซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ได้มีการประกาศนโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้สิทธิบัตรทองได้ดำเนินการตามนโยบายโดยบรรจุสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้านมะเร็งออกมารองรับเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการแพทย์ขั้นสูง ดังเช่น

1.บริการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา (Plaque brachytherapy) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะลุกลามสู่มะเร็งและสูญเสียดวงตา ปัจจุบันประเทศไทยมี รพ.รามาธิบดีเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการรักษาด้วยวิธีนี้ 

2.บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำในการผ่าตัดโดยเฉพาะในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ บริการในมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและตับอ่อนและท่อน้ำดี 

3.บริการรักษาด้วยรังสีโปรตอน เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงสุดและมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และมีอัตราของการรอดชีวิตสูงในกลุ่มโรคมะเร็งสมองในเด็ก ลดผลข้างเคียงเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม ปัจจุบันมีศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพียงแห่งเดียวที่ให้บริการนี้ 

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม 2 รายการ ให้กับคนไทยทุกสิทธิ คือ

4.บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ปีละ 1 ครั้ง ในหญิงไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมระบบเครือข่ายบริการเพื่อรองรับ

นอกจากนี้ สปสช.ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ออกแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 ผ่าน google forms ที่เป็นการกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสายด่วน สปสช. 1330  

5.สิทธิประโยชน์การตรวจด้วยการตรวจปัสสาวะชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test : OV-RDT) ด้วยตนเอง (Self test) ทางเลือกเพิ่มเติมในการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีสำหรับคนไทยทุกสิทธิอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เคยติดเชื้อหรือเคยกินยาพยาธิใบไม้ตับ หรือมีประวัติการกินปลาน้ำจืดสุกดิบ

โดยรับชุดตรวจคัดกรองฯ ได้ที่หน่วยบริการนวัตกรรมใกล้บ้าน เช่น ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกเวชกรรมทั่วไป ฯลฯ เพื่อทำการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมระบบบริการเช่นกัน 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ด สปสช.ยังสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย ตามนโยบาย "สถานชีวาภิบาล" ที่เป็น Quick win ของรัฐบาลด้วย โดยเมื่อเดือนธันวาคม 256 มีมติเห็นชอบให้ "หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545"

กำหนดเป็น "หน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล" หรือ "หน่วยชีวาภิบาล" ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเบิกจ่ายค่าบริการดูแลผู้ป่วยได้ตามสิทธิประโยชน์และหลักเกณฑ์ภายใต้ระบบบัตรทอง

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการที่เป็นวัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด หรือ มัสยิด หรือองค์กรเอกชนที่ทำเรื่องนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ชมรมผู้ป่วยหรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ รวมทั้ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (nursing home) เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและไม่ถูกทอดทิ้ง 

ข้อมูลในระบบ สปสช. ปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทอง 30 บาท ที่ยังคงมีชีวิตอยู่จำนวน 353,828 คน เข้ารับบริการรักษาพยาบาลจำนวน 2,205,097 ครั้ง รวมเป็นงบประมาณค่าใช้จ่าย 9,764.41 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2567 สปสช. ยังคงจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อเนื่อง

พร้อมมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น ที่นอกจากป้องกันภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากมะเร็งแล้ว ยังเป็นการประหยัดงบประมาณประเทศเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ค่ารักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ๆ เลขาธิการ สปสช. กล่าว