เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5 สาธารณสุข คาดอาจรุนแรงกว่าปี 66

25 ม.ค. 2567 | 08:50 น.

"หมอชลน่าน" ชี้ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปีนี้อาจรุนแรงกว่าปี 66 เตรียมรับมือผลกระทบด้านสุขภาพ จัดทำห้องปลอดฝุ่นใน รพ. 30 จังหวัดเสี่ยงสูงรวม 2,562 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงกว่า 4.5 หมื่นคน เปิดคลินิกมลพิษและออนไลน์ 90 แห่ง 

25 มกราคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวนโยบายและการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2567 

โดย นพ.ชลน่าน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป และอาจมีอาการของโรคกำเริบได้ 

ในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) กว่า 58 จังหวัด ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน มีมากกว่า 56 ล้านคน

รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 อย่างมาก และได้สั่งการให้หน่วยงานทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปกป้องประชาชนจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จากสถานการณ์ PM2.5 ที่มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ในปี 2567 นี้ สาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสื่อสาร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง

จัดทำ Clean Room (ห้องปลอดฝุ่น) ในชุมชน ตั้งเป้าหมายให้มีห้องปลอดฝุ่นทุกอำเภอ และให้ทีม อสม. ลงปฏิบัติการเชิงรุกให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพประชาชนเบื้องต้น 

ส่วนในการรักษาพยาบาล ได้จัดบริการคลินิกมลพิษกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 90 แห่ง เพื่อให้คำแนะนำและรักษาพยาบาลผู้ป่วย และมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลเชิงรุก มีระบบ telemedicine หรือ สายด่วนให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และให้การดูแลประชาชนได้ทันเวลาเมื่อสถานการณ์ฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น 

ทั้งนี้ หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สามารถปรึกษาหรือรับบริการได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ หรือสอบถามสายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5 สาธารณสุข คาดอาจรุนแรงกว่าปี 66

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8 และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงรวม 30 จังหวัด ได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าพักเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 รวม 2,053 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 33,000 คน 

นอกจากนี้ยังมีห้องปลอดฝุ่นของหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จำนวน 509 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 12,000 คน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อเข้ารับบริการหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ 

เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5 สาธารณสุข คาดอาจรุนแรงกว่าปี 66

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ปัจจุบัน พบค่า PM2.5 เกินมาตรฐานหรือสีส้ม ถึง 54 จังหวัด และอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ สีแดง 10 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบค่า PM2.5 สูงสุด สถานการณ์ล่าสุดวันนี้ (25 ม.ค.2567) พบว่า เกินมาตรฐานทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคเหนือ 

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เข้มข้นขึ้น ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 

1.ส่งเสริมการลดมลพิษ/สื่อสารสร้างความรอบรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่มีโรคประจำตัว 

2.ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ 

3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 

4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในระบบบัญชาการเหตุการณ์ และส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้เปิดศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ ประสานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลประชาชน

เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5 สาธารณสุข คาดอาจรุนแรงกว่าปี 66

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากฐานข้อมูล Health Data Center กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค แบ่งเป็น ผู้มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการกำเริบ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดเฉียบพลัน โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และประชาชนทั่วไปที่รับสัมผัสฝุ่น PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคตาอักเสบ หรือโรคผิวหนังอักเสบ และดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคภายใต้ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 

1.พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังโรคจากฝุ่น PM2.5 โดยพื้นที่จัดทำข้อมูลเฝ้าระวังสุขภาพจากปริมาณฝุ่น PM2.5 

2.ยกระดับการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มกิจกรรมการคัดกรองโรคจากฝุ่น PM2.5 ทั้งเชิงรับและเชิงรุก และมีการสื่อสารความเสี่ยงแก่กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ 

3.สร้างความรู้ สื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง

4.ขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้อง 

ด้าน พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้เปิดคลินิกมลพิษแห่งแรก ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีการสัมผัสฝุ่น และให้คำแนะนำการป้องกันการเกิดอาการซ้ำจากการสัมผัสฝุ่น

เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5 สาธารณสุข คาดอาจรุนแรงกว่าปี 66

รวมทั้งการดูแลรักษาทั้งระบบ Onsite และ Telemedicine และสร้างเครือข่ายคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 90 แห่งทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ได้พัฒนาให้เป็นคลินิกมลพิษ Online ผ่านแอปพลิเคชัน Line ซึ่งมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ ข้อมูลความรู้ในการป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งสามารถประเมินผลกระทบสุขภาพพร้อมคำแนะนำในการดูแล บรรเทาอาการเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถลงทะเบียนพบแพทย์ในระบบ Telemedicine ได้