“เอเชียระส่ำ” โควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง ไทยเตรียมตัวรับมือ

20 เม.ย. 2566 | 07:14 น.

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชีย พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้น “สิงคโปร์” ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อ มี.ค.สูงสุดในปีนี้ “อินเดีย”ยอดผู้ป่วยวันเดียว สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 64 “อินโดนีเซีย”จำนวนผู้ป่วยรายวันใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน

หลายประเทศในเอเชีย มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ในฐานะโรคประจำถิ่น โดยการระบาดรอบใหม่นี้สร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในหลายประเทศ หลังควบคุมการระบาดจนสถานการณ์คลี่คลายมาได้แล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

คลื่นการระบาดระลอกใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย เป็นโควิดสายพันธุ์ย่อย XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่เชื้อได้สูง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังพบว่าไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ได้รับการฉีดวัคซีนหรือมีการติดเชื้อมาก่อน และรัฐบาลได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกับโควิด 19 เพราะคาดว่าจะเกิดการระบาดเป็นระยะ

“สิงคโปร์” ซึ่งยกเลิกคำสั่งสวมหน้ากากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยลดลงอย่างมาก แต่มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม อยู่ที่ 28,000 ราย  เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า ผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,400 รายในเดือนมีนาคม เป็นประมาณ 4,000 รายต่อวันเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา

เวลานี้รัฐบาลกำลังพิจารณาให้ประชาชนกลับมา "ทำงานที่บ้าน (Work from home)" เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ในเดือนที่ผ่านมา พนักงานบริษัทเกือบครึ่งหนึ่ง (21 จาก 50 คน) ได้ลาพักรักษาตัวจากอาการป่วยโควิด และอีก 4 คนพบตรวจโควิดพบผลบวก เวลานี้หลายบริษัทจึงสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านจนถึงสิ้นเดือนเมษายน แทนที่จะกลับไปทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์ 

“อินเดีย” ซึ่งเคยเผชิญกับวิกฤติระบบสาธารณสุขในปี 2564 ที่โรงพยาบาลหลายแห่งขาดออกซิเจนและเตียง มีรายงาน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 10,150 รายเมื่อต้นเดือนเมษายน  แม้ยังไม่มีผู้ป่วยเข้ารักษาโรงพยาบาลและคลินิกเพิ่มขึ้น แต่อินเดียเริ่มได้ทำการฝึกซ้อมแผนรับมือเพื่อเตรียมความพร้อม และมีบางรัฐที่บังคับใช้คำสั่งสวมหน้ากากอีกครั้ง

ส่วนที่ “อินโดนีเซีย” จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลได้ผ่อนปรนการควบคุมการเดินทาง พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งแตะเกือบ 1,000 ราย ช่วงก่อนสงกรานต์ ซึ่งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศให้ประชาชนรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สอง แต่ยังคงสถานการณ์ให้อยู่ระดับ “อยู่

"มาเลเซีย" กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ได้รับการยืนยัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.5 ในช่วง 14 วันก่อนถึงวันที่ 8 เมษายน การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ในขณะที่การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25  รัฐมนตรีสาธารณสุขเรียกร้องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด ก่อนการ "เฉลิมฉลองวันฮารีรายอ" ในประเทศ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นมาตรการบังคับ เพราะสถานการณ์โควิด 19 ไม่เลวร้ายเหมือนเมื่อก่อน 

ด้าน กระทรวงสาธารณสุขของ "เวียดนาม” สั่งให้ติดตามชายแดนอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ และป้องกันการแพร่กระจายในชุมชน หลังจากรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 639 รายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า 

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO)  เปิดเผยว่า แนวโน้มการระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ และยังคงเผชิญปัญหาการระบาดอีกหลายระลอก ก่อนที่เราจะเริ่มจับทางรูปแบบของไวรัสและเริ่มคาดการณ์ได้  

ในช่วง 28 วันที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 มากกว่า 23,000 ราย และผู้ป่วยรายใหม่ 3 ล้านราย ทั้งนี้อยู่ในบริบทของการตรวจหาเชื้อที่ลดลงมาก

"ไมเคิล ไรอัน" ผู้อำนวยการฝ่ายเหตุฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก WHO กล่าวว่า “ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังลดลง ผู้คนจำนวนมากยังคงเสียชีวิตและยังคงมีป่วยอยู่เป็นจำนวนมาก 

“ไวรัสนี้ไม่ได้เปลี่ยนผ่านแค่จากโรคระบาดไปยังโรคเฉพาะถิ่น แต่จะ เริ่มมาติดเชื้อแม้ผู้คนกิจกรรมน้อยลง และนำไปสู่การระบาดสูงสุดตามฤดูกาล”

“เราไม่ได้ปิดสวิตช์การแพร่ระบาด แต่มีแนวโน้มมากขึ้นที่เราจะได้เห็นรูปแบบของไวรัสที่คาดเดาได้มากขึ้น"

ทั้งนี้ คณะกรรมการฉุกเฉินองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับโควิด 19  ซึ่งมีการประชุมทุก 3 เดือน โดยมีกำหนดประชุมครั้งต่อไปต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ต้องรอติดตามผลการประชุมว่าจะมีประกาศแนวทางให้ทั่วโลกรับมือกับการระบาดระลอกนี้อย่างไร และต้องจับตาภูมิภาคเอเชียเป็นพิเศษหรือไม่

ที่มา : CNA , Japan Time