รู้จัก “ซีเซียม-137” ท่อสารกัมมันตรังสีที่หายไป อันตราย ถึงชีวิต

15 มี.ค. 2566 | 08:58 น.

ทำความรู้จัก “ซีเซียม-137” ท่อสารกัมมันตรังสีที่หายไป จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีอันตรายถึงชีวิต

เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ยังคงเร่งปูพรมค้นหา “ท่อซีเซียม-137” ตามร้านขายของเก่า ทั่วทั้ง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หลังจากที่ “ท่อซีเซียม-137” ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด หายไปจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำใน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 2566

โดย “ท่อซีเซียม-137” ตัวที่หายไป มีลักษณะเป็นท่อกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว ใช้สำหรับเป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า โดยคาดว่า มีผู้เก็บ ท่อซีเซียม-137 นี้ไป โดยไม่ทราบว่าคืออะไร เนื่องจากท่ออาจหลุดหล่นลงมาจากการติดตั้งด้วยความเก่า 

ล่าสุด ได้มีการตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับคนที่ให้ข้อมูลนำสารดังกล่าวกลับคืนมาได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตราย หากมีคนไปสัมผัส เนื่องจากสารซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีที่มีความอันตรายสูง สามารถกระจายอยู่ทั้งในดิน น้ำ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น อาหารในกลุ่มผัก ผลไม้ นม อาหารทะเล และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร ย่อมมีโอกาสปนเปื้อนซีเซียม-137 ได้

ท่อซีเซียม-137

ทำความรู้จัก “ซีเซียม-137” 

สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ซีเซียม-137 (Cs-137) คือสารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สลายโดยปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา

สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) และใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า

อันตรายจาก “ซีเซียม-137”

ซีเซียม-137 นับเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจะก่อมะเร็งเมื่อได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก รังสีจะเข้าไปทำลายแอนติบอดี้ในร่างกาย และต่อมาผมจะเริ่มร่วง และอาจจะทำให้ผิวหนังของผู้สัมผัสเกิดอาการเน่าภายใน 3 วัน

ซีเซียม-137

อาการ เมื่อสัมผัส“ซีเซียม-137”

เมื่อได้รับสารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย มีไข้ ผิวหนังที่ถูกรังสีอาจแดง อักเสบ ไหม้ หลุดลอก ผมหรือขนหลุดร่วง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อระบบเลือด เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำ กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และเสียชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาล จาก “ซีเซียม-137”

  1. ล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตา
  2. ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ เก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
  3. หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายใน 1 สัปดาห์ หลังโดนรังสี ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี  แพทย์จะจ่ายยาชื่อ ปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) เพื่อจะได้ไปทำปฏิกิริยาเคมีจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

วิธีปฐมพยาบาล จาก “ซีเซียม-137”

ที่มา : กรมควบคุมโรค , สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย